ปฏิทินของฉัน

gestbook

เครื่องจักสานของภาคเหนือ

เครื่องจักสานภาคเหนือ



ภาคเหนือ หรือล้านนาไทย เป็นดินแดนที่มีศิลปวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นเป็นของตนเอง เป็นเหตุให้เครื่องจักสานในภาคเหนือมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างไปจากภาคอื่น นอกจากนี้ ภาคเหนือหรือล้านนาไทยมีสภาพภูมิศาสตร์ที่แตกต่างไปจากภาคอื่นๆ
สภาพการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมทำให้ภาคเหนือเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือเครื่องใช้จักสานที่สำคัญ นอกจากนี้ ภาคเหนือยังมีวัตถุดิบหลายชนิดที่นำมาทำเครื่องจักสานได้ เช่น กก แหย่ง ใบลาน และไม้ไผ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้ไผ่ซึ่งมีหลายชนิดที่ใช้ทำเครื่องจักสานได้ดี

นอกจากสภาพภูมิประเทศและการประกอบอาชีพของภาคเหนือที่เอื้ออำนวยให้ประชาชนทำเครื่องจักสานแล้ว ศิลปวัฒนธรรม ขนบประเพณีและศาสนาของภาคเหนือ ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เครื่องจักสานภาคเหนือมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง

ภาคเหนือหรือล้านนาไทยเป็นดินแดนที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในวงล้อมของขุนเขา ทำให้ภาคเหนือมีศิลปวัฒนธรรมเป็นของตนเองมาแต่โบราณมีภาษาพูด ภาษาเขียน ขนบประเพณี เป็นของตนเอง เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นเหล่านี้เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เครื่องจักสานภาคเหนือมีเอกลักษณ์ของตนเอง
การทำเครื่องจักสานพื้นบ้านภาคเหนือหรือล้านนาไทยนั้น ทำสืบต่อกันมาแต่โบราณ ดังมีหลักฐานปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังหลายแห่ง เช่น ภาพชาวบ้านกับเครื่องจักสานในภาพจิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดพระสิงห์วรวิหารอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นภาพชาวบ้านกำลังนั่งสนทนากันอยู่ ข้างๆ ตัวมีภาชนะจักสานชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เปี้ยด หรือกระบุงวางอยู่รูปทรงของเปี้ยดในภาพคล้ายกับเปี้ยดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แสดงว่าชาวล้านนาสานเปี้ยดใช้มานานนับร้อยปี นอกจากภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดสิงห์วรวิหารแล้ว ยังมีภาพของเครื่องจักสานปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังอีกหลายภาพ เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดบวกครกหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดภูมินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน

นอกจากนี้ วัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวของชาวเหนือ ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดเครื่องจักสานที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคข้าวเหนียวหลายอย่าง เช่น ลังถึงก๋วย ซ้าหวด ก่องข้าว กระติบข้าว แอบข้าวขันโตก ฯลฯ เครื่องจักสานเหล่านี้หลายชนิดมีลักษณะเฉพาะถิ่นโดดเด่น ได้แก่ ก่องข้าว แอบข้าว เปี้ยด เป็นต้น
ก่องข้าว ภาชนะสำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่งสานด้วยไม้ไผ่ มีขนาดและรูปทรงต่างๆ กัน ก่องข้าวของภาคเหนือทั่วไปแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือส่วนฐาน มักจะทำด้วยไม้เป็นรูปกากบาทติดอยู่กับส่วนก้นเพื่อใช้เป็นฐานสำหรับตั้ง ตัวก่อง มักสานก้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือกลมต่อขึ้นมาเป็นทรงกระบอกคอคอดเข้าเล็กน้อย ส่วนที่สามคือฝา มีลักษณะเป็นฝาครอบ มักจะมีหูสำหรับร้อยเชือกที่ใช้เป็นที่หิ้วหรือแขวนมาจากตัวก่องรูปแบบของก่องข้าวในปัจจุบัน บางท้องถิ่นได้วิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปจากโบราณบ้าง เช่นสานด้วยพลาสติกแทนตอก และมีรูปทรงแปลกๆแตกต่างกันไปตามความนิยมของผู้ใช้ แต่ประโยชน์และความสวยงามไม่สมบูรณ์ลงตัวเหมือนก่องข้าวที่สานด้วยไม้ไผ่
แอบข้าว หรือ แอ๊บข้าว ภาชนะใส่ข้าวเหนียวเช่นเดียวกับก่องข้าว แต่มีขนาดเล็กกว่าสำหรับพกพาติดตัวเวลาไปทำงานนอกบ้าน แอบข้าว มีส่วนประกอบสำคัญคือ ตัวแอบรูปร่างคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฝาแอบรูปร่างเหมือนตัวแอบแต่ขนาดใหญ่กว่า เพราะใช้ครอบแอบข้าวแอบข้าวเหมาะสำหรับพกใส่ถุงย่าม ห่อผ้าคาดเอวออกไปทำนา ทำไร่ เช่นเดียวกับกล่องใส่อาหารในปัจจุบัน
ก่องข้าวและแอบข้าวของภาคเหนือ เป็นเครื่องจักสานที่มีความสมบูรณ์ทั้งในด้านรูปแบบและประโยชน์ใช้สอย สอดคล้องกับความนิยมของประชาชนแต่ละถิ่น
นอกจากนี้ในภาคเหนือยังมีเครื่องจักสานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่ใช้กันแพร่หลายอีกหลายอย่าง เช่น บุง หรือ เปี้ยด ภาชนะสานสำหรับใส่ของเช่นเดียวกับกระบุงของภาคกลาง แต่บุงภาคเหนือมีรูปร่างต่างกันไป เช่น บุงเมืองแพร่ บุงลำพูนหรือบุงลำปาง จะมีขนาดค่อนข้างเล็กกว่ากระบุงภาคกลาง ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะต้องการลดน้ำหนักของบุงให้น้อย เพราะบุงภาคเหนือใช้หาบของในภูมิประเทศที่เป็นเนิน ไม่สามารถหาบของที่มีน้ำหนักมากเหมือนกับภาคกลางซึ่งเป็นพื้นราบ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บุงภาคเหนือมีลักษณะป้อมกลมไม่เป็นเหลี่ยมเหมือนกระบุงภาคกลางนั้นช่วยให้บุงมีความคงทน ไม่แตกหักเสียหายง่ายเมื่อกระทบกระแทกกับสิ่งอื่น ใช้งานได้นาน

การสานบุงภาคเหนือ จะสานก้นเป็นแผงสี่เหลี่ยม ด้วยลายสองก่อน ถัดขึ้นมาตรงกลางหรือกระพุ้งสานลายสาม ส่วนปากที่โค้งสอบเข้าสานลายหนึ่ง และใช้ตอกค่อนข้างเล็กเพื่อความแข็งแรงทนทาน การสานปากของบุงจะต่างกันไปตามความนิยมของท้องถิ่น เช่น บุงเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง จะเข้าขอบปากด้วยไม้ไผ่และหวาย ต่างกับบุงเมืองแพร่และน่าน จะสานขอบในตัวโดยการเม้มตอกสานสอดกันเป็นขอบแทนการเข้าขอบด้วยไม้ไผ่
บุงภาคเหนือนอกจากจะใช้ใส่เมล็ดข้าวเปลือก เมล็ดพืชพันธุ์ต่างๆ แล้ว ยังใช้เป็นภาชนะสำหรับตวงหรือวัดปริมาณของเมล็ดพืชผลด้วยโดยใช้ขนาดของบุงเป็นเกณฑ์ เช่น บุงสามสิบห้าบุงสามสิบ คือ บุงที่มีความจุสามสิบห้าลิตร และบุงจุสามสิบลิตร เป็นต้น ในการสานบุงที่จะใช้ทำเครื่องตวงนี้จำเป็นจะต้องมีแบบหรือ "หุ่น" ที่สานด้วยไม้ไผ่ให้มีขนาดมาตรฐานเป็นแบบและยังช่วยให้บุงมีรูปทรงที่ดี ไม่บิดเบี้ยว มีความจุตรงตามต้องการ

บุง หรือกระบุงของภาคเหนือดังกล่าว เป็นเครื่องจักสานที่มีเอกลักษณ์และความงามเฉพาะถิ่นของภาคเหนือ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องจักสานกับประเพณีนิยมของท้องถิ่นทำให้เครื่องจักสานได้รับการออกแบบให้มีรูปทรงที่มีความสมบูรณ์ทั้งด้านใช้สอยและความสวยงาม

เครื่องจักสานของภาคเหนือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นโดดเด่นอีกอย่างหนึ่ง คือ น้ำทุ่ง หรือน้ำถุ้ง เป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ยาด้วยชันและน้ำมันยาง ใช้สำหรับตักน้ำจากบ่อน้ำ รูปร่างของน้ำทุ่งเหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยเป็นอย่างดีคือ มีลักษณะคล้ายกรวยป้อมๆ ส่วนก้นมนแหลม ที่ปากมีไม้ไขว้กันเป็นหูสำหรับผูกกับเชือกเพื่อสาวน้ำทุ่งขึ้นมาจากบ่อน้ำ ความมน แหลมของก้นน้ำทุ่งจะช่วยให้น้ำทุ่งโคลงตัวคว่ำลงให้น้ำเข้าเมื่อโยนลงไปในบ่อ นอกจากนี้ ลักษณะการสานที่แข็งแรงยังช่วยให้น้ำทุ่งมีความทนทาน แม้ในปัจจุบันจะมีผู้ผลิตน้ำทุ่งด้วยสังกะสีแต่ความคงทนและประโยชน์ใช้สอยสู้น้ำทุ่งที่สานด้วยไม้ไผ่ไม่ได้ แสดงว่าเครื่องจักสานพื้นบ้านที่คนโบราณผลิตขึ้นนั้น เลือกใช้วัตถุดิบท้องถิ่นมาใช้ได้อย่างเหมาะสม และใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี

นอกจากตัวอย่างของเครื่องจักสานไม้ไผ่ภาคเหนือดังกล่าวแล้ว ยังมีเครื่องจักสานที่ใช้ในชีวิตประจำวันอีกหลายชนิด เช่น ซ้าหวด กัวะข้าว ก่องข้าว แอบข้าว โตก ฝาชี แอบหมาก แอบเมี้ยง ซ้าชนิดต่างๆ หมวกหรือกุบ ก๋วยก๋วยก้า ก๋วยหมู ก๋วยโจน เข่งลำไย ซ้าล้อม ซ้าตาห่าง ซ้าตาทึบ หรือบุงตีบ น้ำทุ่ง น้ำเต้า คุ วี ต่างเปี้ยด หรือบุงชนิดต่างๆ เปลเด็ก เอิบ ไซชนิดต่างๆ สุ่ม ฯลฯ
เครื่องจักสานภาคเหนือยังทำด้วยวัตถุดิบอื่นๆอีก เช่น ใบลานและใบตาล ซึ่งทำกันไม่มากนักส่วนมากนิยมสานหมวก งอบ หรือ กุบ และก่องข้าวเล็กๆ

ประวัติขันโตกของภาคเหนือ

ประวัติขันโตก
ประวัติ/ความเป็นมา

ประเพณีเลี้ยงขันโตก เป็นประเพณีของชาวเหนือที่นิยมปฏิบัติสืบต่อกันมา การเลี้ยงแขก โดยการกินข้าวขันโตก อาจมีหลายชื่อที่เรียกขานกัน เช่น กิ๋นข้าวแลงขันโตก หรือเรียกสั้นๆ ว่า ประเพณี ขันโตก หรือสะโตก ซึ่งเป็นภาชนะที่ทำด้วยไม้นำมากลึงให้เป็นลักษณะกลมเป็นรูปถาด ถ้าเป็นขันโตกขนาด เล็กจะมีขนาดประมาณเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๔ นิ้ว ขนาดใหญ่ประมาณ ๒๐ นิ้ว ถ้าเป็นขันโตกสำหรับเจ้า นายฝ่ายเหนือหรือคหบดีก็ดัดแปลงให้หรูหราขึ้นตามฐานะ บ้างก็ใช้เงินทำหรือ "ทองกาไหล่" หรือไม่ก็ลงรัก ปิดทอง
ในสมัยก่อน ชาวเหนือนิยมรับประทานอาหารกับพื้น เมื่อแม่บ้านทำกับข้าวเสร็จเรียบร้อย แล้ว ก็จะยกออกมาตั้งโตก โดยในขันโตกนั้นจะมีกับข้าวพร้อม และเมื่อรับประทานอาหารเรียบร้อยแล้วก็ยก ไปเก็บทั้งโตก เป็นการประหยัดเวลาในการจัดและเก็บ ถือเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของชาวเหนือที่ปฏิบัติสืบต่อ กันมาก่อนที่จะรับเอาวัฒนธรรมสมัยใหม่ ซึ่งเปลี่ยนมานั่งโต๊ะแบบชาวตะวันตก แต่การเลี้ยงขันโตกก็ยังได้ รับความนิยมและใช้เลี้ยงรับรองผู้มาเยือนอยู่เสมอๆ
จุดมุ่งหมายของการกินข้าวขันโตกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ได้มีการพัฒนามาจากสมัยก่อน โดยถือว่า นอกจากเป็นการเลี้ยงดูแขกที่มาเยือนให้ดูหรูหราสมเกียรติ เพื่อให้เกิดความอบอุ่นประทับใจใน การต้อนรับแล้วยังมีการประยุกต์เอาวิธีการเลี้ยงดูแขกให้มีความหมายลึกซึ้งยิ่งขึ้น ด้วยการเพิ่มสีสันของการ จัดงานให้ยิ่งใหญ่ดูวิจิตรพิสดาร เพียบพร้อมด้วยบรรยากาศของเมืองเหนือจริงๆ การประดับประดาเวทีด้วย ดอกไม้ต้นไม้ให้ดูผสมกลมกลืนกันไป การตระเตรียมขั้นตอนการดำเนินงานเลี้ยงข้าวขันโตกให้เป็นพิธีการที่ หรูหรา ประณีต งดงามมีศิลปะต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างบรรยากาศเลี้ยงดูแขกเหรื่อให้ประทับใจ และเป็นการยกย่องแขกทั้งสิ้น
จะเห็นว่า การกินข้าวขันโตกของชาวเหนือนั้น นอกจากจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงน้ำใจ ต้อนรับแขกและให้เกียรติแก่ผู้มาเยือนแล้วในปัจจุบัน ก็ยังได้มีจุดมุ่งหมายที่แฝงอยู่หลายประการ เช่น บาง ท้องถิ่นก็จัดงานเลี้ยงขันโตกเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นของตน ฟื้นฟูการแต่งกายแบบ พื้นเมือง การทำอาหารพื้นเมือง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ชาวบ้านมีรายได้มีงานทำด้วย บางแห่งก็จัดงาน ข้าวขันโตกเพื่อหารายได้สำหรับสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่ท้องถิ่น


กิจกรรม/พิธี
งานจะเริ่มจากการร่วมแรงร่วมใจกันตระเตรียมสิ่งของ เครื่องใช้ต่างๆ ตลอดไปจนสถานที่ โดยจะประดับเวที ฉาก และการแสดงบนเวที สำหรับสถานที่นิยมจัดที่กลางแจ้ง เช่น สนามหญ้าต่างๆ แล้วนำเสื่อมาปู ส่วนมากเป็นเสื่อยาวๆ จะนั่งกันประมาณ ๕ - ๖ คน มีขันโตกตั้งอยู่ตรงกลาง ในขันโตก ส่วนมากก็มีอาหารประมาณ ๕ อย่าง ตัวอย่างเช่น แกงอ่อม แคบหมู ชิ้นปิ้ง น้ำพริกอ่อง ผักสด แกงฮังเล และที่ขาดไม่ได้ คือ ข้าวเหนียว หรือที่ชาวเหนือเรียกว่า ข้าวนึ่ง ข้าวนึ่งของชาวเหนือต้องอาศัยทักษะและ ความรู้ในการทำพอสมควร คือ เริ่มจากนำข้าวไปแช่ เรียกว่า การหม่าข้าวไว้ ๑ คืน ในหม้อข้าวหม่า (หม้อที่ ใช้สำหรับแช่ข้าวเหนียว) ซึ่งก่อนที่จะนึ่งต้องซาวข้าวด้วยการใช้ ซ้าหวด (คือ ภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่สำหรับ ใส่ข้าวเหนียวเอาไปล้างน้ำให้สะอาดก่อนที่จะนำไปนึ่ง) การนึ่งจะต้องใช้ไหข้าวมีฝาปิดมิดชิดให้ข้าวสุกดีขึ้น แล้วยกลงมานำมาวางในภาชนะที่เรียกว่า กั๊วะข้าว หรือถาด ต้องคอยคนให้ไอน้ำในข้าวระเหยออกไปบ้าง และคอยระวังไม่ให้ข้าวแฉะหรือข้าวแข็งหรือสุกไม่ทั่วกัน เมื่อข้าวสุกดีน้ำระเหยไปบ้างแล้ว ก็นำข้าวไปใส่ กระติ๊บบ้าง หรือที่ทางเหนือเรียกว่า แอ๊บ หรือก่องข้าว ซึ่งนิยมสานด้วย
สำหรับงานเลี้ยงข้าวขันโตก จะมีกระติ๊บข้าวนึ่งขนาดใหญ่โตมากอีกกระติ๊บหนึ่ง เรียกว่า กระติ๊บหลวง มีลักษณะเหมือนกระติ๊บทั่วไป แต่มีขนาดใหญ่มาก อาจต้องใช้คนหามเข้าขบวนแห่นำขบวน ขันโตก มีขบวนสาวงามช่างฟ้อนนำขบวนขันโตกเข้ามาในงานผสมกับเสียงดนตรีเสียงโห่ร้องแสดงความยินดี เมื่อสาวงามช่างฟ้อนมาถึงงานเลี้ยงแล้ว ก็จะนำกระติ๊บหลวงไปวางไว้กลางงาน และนำข้าวนึ่ง ในกระติ๊บหลวง แบ่งใส่กระติ๊บเล็กๆ แจกจ่ายไปตามโตกต่างๆ จนทั่วบริเวณงาน ซึ่งมีโตกกับข้าวเตรียมไว้ก่อนแล้ว
การนั่งรับประทานอาหารในงานขันโตก จะนั่งกับพื้นบนสาดเติ้ม (เสื่อไม้ไผ่สาน) หรือจะนั่ง รับประทานขันโตกบนพื้นไม้ที่ยกพื้นขึ้นมาในระดับเวทีก็ได้
ผู้ที่มาร่วมงานทุกคนแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองเหนือ เช่น ผู้ชายสวมเสื้อม่อฮ่อม มีผ้า ขาวม้าคาดเอว มีพวงมาลัยดอกมะลิคล้องคอ ส่วนผู้หญิงนุ่งผ้าถุงยาวถึงตาตุ่ม สวมเสื้อแขนกระบอก ทัดดอกไม้ที่หู หรือคล้องพวงมาลัยดอกมะลิ
นอกจากอาหารคาว ยังมีอาหารหวานที่นิยมเลี้ยงกันในงานขันโตก เช่น ขนมปาด ข้าวแตน ข้าวควบ มีน้ำต้นคนโท ขันน้ำสำหรับล้างมือก่อนหยิบข้าวนึ่ง มีกระโถนใส่เศษอาหาร และเมี่ยง บุหรี่ไว้สำหรับ แขกเหรื่อที่มาร่วมงาน บุหรี่ที่ใช้ คือ บุหรี่ขี้โย เป็นบุหรี่ยาเส้น นำมามวนใบตอง ชาวบ้านนิยมสูบกันทั่วไป เมี่ยง คือ ใบชานำมาหมักให้ได้ที่ใช้อมกับเกลือ มีรสเปรี้ยว ๆ อมเรียกน้ำลายเพื่อความชุ่มคอ
สำหรับบรรยากาศที่น่าประทับใจของงานนี้ คือ จะให้แสงสว่างบนเวทีจากไฟตะเกียง หรือแสงเทียน บนโตกมีการจุดเทียน ๒ - ๓ เล่ม ให้พอมองเห็นหน้ากันเท่านั้น บนเวทีมีการตกแต่งประดับประดาให้เข้าบรรยากาศเมืองเหนือ และมีวงดนตรีอยู่ที่มุมหนึ่งของเวที ในขณะที่แขกเหรื่อกำลัง รับประทาน อาหารก็มีการบรรเลงดนตรีขับกล่อมตลอดเวลาสลับกับการแสดงบนเวที และส่วนมากนิยมเอาศิลปะการ ฟ้อนรำแบบชาวเหนือมาแสดงบนเวที สลับกับการแสดงดนตรีพื้นเมือง เช่น ชุดการแสดงฟ้อนสาวไหม ฟ้อนตาว (ฟ้อนดาบ) ฟ้อนเทียน
การจัดงานประเพณีกินข้าวแลงที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้ มีการนำเอาศิลปวัฒนธรรมของ ชาวเหนือเข้ามาผสมผสานให้มีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น เช่น มีการประกวดโคมลอย การประกวดจิบอกไฟ (จุดบอกไฟ) หรือจุดพลุในยามค่ำคืนให้ดูสวยงาม เพิ่มสีสันให้แก่งานอย่างมาก
งานประเพณีต้อนรับแขกชาวเหนือ เป็นงานประเพณีที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยภาค เหนือ เป็นการอนุรักษ์วิถีชีวิตความเป็นอยู่ตั้งแต่ดั้งเดิมให้สืบมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งยังเป็นการสร้างบรรยากาศ ในการต้อนรับให้อบอุ่น ประทับใจแก่ผู้มาเยือนยากที่จะลืมเลือน




ที่มา 1.http://61.19.145.8/student/web42106/501/501-0410/intro.html
2.http://www.youtube.com/watch?v=v0hUWfNvKvU

อาชีพของชาวภาคเหนือ

อาชีพของคนภาคเหนือ


ชาวเหนือส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ทำไร่ การทำนาส่วนใหญ่จะเป็นนาดำ ที่ลุ่มมาก ๆ จึงทำนาหว่าน คนเหนือปลูกข้าวเหนียวกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะบริโภคข้าวเหนียว ข้าวเหนียวภาคเหนือถือเป็นข้าวที่มีคุณภาพดี นึ่งสุกแล้วขาวสะอาด อ่อนและนิ่มน่ารับประทาน ข้าวพันธ์ที่มีชื่อเสียง คือ ข้าวสันป่าตอง นอกจากทำนาแล้วยังปลูกพืชไร่อื่น ๆ เช่น หอม กระเทียม ถั่ว ยาสูบ เป็นต้น นอกจากปลูกข้าวแล้ว อาชีพทำสวนก็เป็นที่นิยมกัน โดยเฉพาะทำสวนลำไย และลิ้นจี่ นอกจากจะขายให้คนไทยได้รับประทานแล้ว ยังส่งขายต่างประเทศอีกด้วย
ยังมีอาชีพอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชาวเหนือ คือ การทำเมี่ยง ชาวเหนือชอบกินหมากและอมเมี่ยง โดยเอาใบเมียงที่เป็นส่วนใบอ่อนมาหมักให้มีรสเปรี้ยวอมฝาด เมื่อหมักนานได้ที่ เวลาจะเอาใบเมี่ยงมาอม ก็ผสมเกลือเม็ดหรือของกินอย่างอื่นแล้วแต่ชอบ
นอกจากการอมเมี่ยง คนล้านนาทั้งหญิงและชายจะสูบบุหรี่ที่มวนด้วยใบตองกล้วย มวนหนึ่งขนาดเท่านิ้วมือ และยาวเกือบคืบ ชาวบ้านเรียกบุหรี่ชนิดนี้ว่า “ขี้โย” หรือ “บุหรี่ขี้โย” ที่นิยมสูบกันมากอาจเนื่องมาจากอากาศหนาวเย็น การสูบบุหรี่คงทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น
นอกจากอาชีพเกษตรกรรม ชาวเหนือยังประกอบอาชีพอื่น อาจเรียกได้ว่าเป็นหัตถกรรมหรืออุตสาหกรรมในครัวเรือนก็ได้ คือ ผู้หญิงจะทอผ้าเมื่อเสร็จจากการทำนา นอกจากนั้นยังมีการแกะสลัก การทำเครื่องเงิน เครื่องเขิน และการทำเครื่องเหล็ก เป็นต้น

วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวภาคเหนือ

วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวล้านนา

คนไทยในอาณาจักรล้านนามีชีวิตและความเป็นอยู่โดยการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา หุบเขา มีพื้นที่ราบจำนวนน้อย คือ ประมาณ1/4 ของพื้นที่ทั้งหมด ชาวบ้านทำนาแบบนาทดน้ำ พื้นที่สูงปลูกข้าวไร่ พื้นที่ที่ราบในแอ่งเขาอุดมสมบูรณ์ ปลูกข้าว และพืชอื่น ๆ ได้ดี คือ พื้นที่ราบแอ่งเชียงใหม่ ลำพูน และแอ่งเชียงราย ส่วนลำปาง แพร่ น่าน ผลิตข้าวได้น้อย ระบบเศรษฐกิจเป็นแบบผลิตเพื่อให้พออยู่พอกิน การติดต่อค้าขายระหว่างกันก็จะเป็นประเภทวัวต่าง สินค้ามีของป่า เกลือ ผ้า อัญมณี เป็นต้น ส่วนการค้าขายในหมู่บ้านก็จะมี “กาดมั่ว” ใครมีของอะไรก็นำมาวางขายได้

คนไทยภาคเหนือนิยมปลูกบ้านอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นหมู่บ้าน หากพื้นที่ใดอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำนา มีแม่น้ำไหลผ่าน ก็จะมีหมู่บ้านตั้งเป็นระยะ ๆ เรื่อยไปตามแม่น้ำ ลักษณะบ้านจะเป็นบ้านไม้ยกสูง มีใต้ถุนโล่ง เป็นที่เก็บของเครื่องมือทำเกษตร และเป็นที่ทำงานหรือพักผ่อนยามว่างได้ด้วย บ้านของชาวเหนือนิยมมุงกระเบื้องหรือชาวบ้านเรียกว่าดินขอ หรือบางครั้งก็มุงด้วยแผ่นไม้สักซึ่งทำเป็นแผ่นเล็ก ๆ แต่โตกว่าแผ่นกระเบื้อง แผ่นไม้สักนี้จะทนแดดทนฝน ถ้าคัดเลือกไม้อย่างดีจะอยู่ได้เกิน 50 ปีขึ้นไปเลยทีเดียว
ถัดจากบ้านก็จะเป็นยุ้งข้าวขนาดใหญ่เล็กตามฐานะ นอกจากนั้นก็จะมีสัตว์เลี้ยง เช่น ไก่ เป็ด วัว ควาย ม้า ถัดบ้านก็เป็นสวนผลไม้ซึ่งรวมถึงพืชผักที่ใช้ประกอบอาหารด้วย
ชาวล้านนามีลักษณะเหมือนคนไทยทั่วไป แต่เป็นเชื้อสายไทยยวน หรือโยนก คนล้านนาเองเรียกคนกลุ่มเดียวกันว่า “คนเมือง” ลักษณะเด่นกว่าคนไทยกลุ่มอื่นคือ ผิวค่อนข้างขาว รูปร่างสันทัดไม่สูง ไม่เตี้ยเกินไป ส่วนใหญ่รูปร่างผอมบาง มีภาษาที่เป็นภาษาถิ่นของตัวเอง หรือที่เข้าใจกันว่า “คำเมือง” ภาษาไทยเหนือมีระบบตัวอักษรบันทึกที่เรียกว่า “อักษรล้านนา” บันทึกเรื่องราวทางพุทธศาสนา คัมภีร์ต่าง ๆ ตลอดจนกฎหมายและความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน อักษรล้านนานี้ดัดแปลงมาจากอักษรมอญเดิม มีอายุรุ่นเดียวกับอักษรพ่อขุนรามคำแหง หรืออาจเก่ากว่านั้นอีก


ศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือ อาหาร

อาหารของภาคเหนือ

คนไทยทางภาคเหนือนิยมรับประทานข้าวเหนียวเป็นหลักทั้ง 3 มื้อ ส่วนกับข้าวก็จะเป็นพวกเนื้อสัตว์ (เนื้อวัว เนื้อควาย หมู ไก่ ปลา) อาหารทะเลมีน้อยมาก และยังมีความเชื่อว่าถ้ากินอาหารทะเลจะผิดผญาด คือ เป็นโรคผิดสำแดง หรือ แสลง ผักต่าง ๆ ถั่วต่าง ๆ ลักษณะการประกอบอาหารก็จะมีทั้งชนิดแห้งและน้ำ เช่น ลาบ ลู่ ไส้อั่ว ชิ้นหมู เอาะ แกงฮังเล แกงอ่อม แกง โฮะ แกงผักกาดจอ เป็นต้น

มีอาหารชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านต้องมีไว้ประจำครัวเรือน เรียกว่า “ถั่วเน่า” คือ ถั่วเหลืองที่นำไปหมักแล้วนำมาทำเป็นแผ่นบาง ๆ แบน และทำเป็นแผ่นกลม ๆ พอนำไปตากแดดแห้งแล้วจะนำมาร้อยเป็นพวงด้วยตอกไม้ไผ่ นำไปเก็บไว้ในครัว ถั่วเน่าจะนำไปผสมลงในแกงหรืออาหารอย่างอื่นได้หลายอย่าง
ที่จริงการใช้ถั่วเหลืองมาประกอบอาหารกินเป็นประจำนั้นถือว่าถูกต้องและเป็นความฉลาดของคนภาคเหนือ เพราะถั่วเหลืองนอกจากจะมีคุณค่าทางอาหารสูงแล้วยังให้พลังงานสูงด้วย
ยังมีอาหารอีกชนิดหนึ่งที่ควรกล่าวไว้ คือ ลู่ ซึ่งเป็นประเภทอาหารคาวและยังดิบ ๆ อยู่
ลู่ คือลาบทางภาคเหนือแต่มีเลือดผสมด้วย ลู่ทำจากเนื้อหมู วัว ควาย นำมาสับให้ละเอียด ผสมด้วยเครื่องเทศ มีเครื่องในสัตว์หั่นเป็นชิ้น ๆ ผสมลงไปด้วยก็ได้ รสจะเปรี้ยว เค็ม เผ็ด รสร้อนแรง นิยมกินกับเหล้า และมีผักต่าง ๆ มาแกล้ม ทางภาคอีสานลักษณะคล้ายกัน เรียกว่า ลาบเลือด แต่มีลักษณะเหลว ไม่ข้นเหมือนลู่ทางภาคเหนือ


ลักษณะนิสัยที่ค่อนข้างเยือกเย็นสุขุมและสุภาพเรียบร้อยนับเป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาให้เห็นถึงอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของคนภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวเหนียวซึ่งเป็นอาหารหลัก น้ำพริกอ่อง ซึ่งดูจะไม่เผ็ดมากนัก ตลอดจนกรรมวิธีถนอมอาหารอันแยบยล ที่ออกมาในรูปแบบของ แหนม หมูยอ แคบหมู และที่เป็นพิเศษจริงๆคือ อาหารจำพวกของสด เช่น ลาบสดที่ดูเหมือนจะเป็น มรดกทางวัฒนธรรมทางอาหารของต้นตระกูลไทยที่แท้จริง รวมถึงอาหารที่ได้รับอิทธิพลจาก ชาติต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง อาทิ แกงฮังเลที่ได้รับอิทธิพลจากพม่า ข้าวซอยที่ได้รับอิทธิพลจาก จีนฮ่อ นอกจากนั้นแนวทางการรับประทาน


อาหารพื้นเมืองทางภาคเหนือยังออกมาในรูปแบบ ของขันโตก ซึ่งประ กอบด้วยอาหารหลายๆอย่างในหนึ่งสำรับ เช่น น้ำพริกอ่อง แคบหมู แกง ฮังเล ลาบ ข้าวเหนียว ไก่ชิ้นทอด โดยเฉพาะมีการประยุกต์อาหารขันโตก โดยอาจารย์ ไกรศรี นิมมานเหมินทร์ นำมารับแขกบ้านแขกเมืองที่เรียกติดปากว่า "ขันโตกดินเนอร์" นั่นเองอาหารของภาคเหนือประกอบด้วยข้าวเหนียว น้ำพริกชนิดต่างๆ เป็นต้นว่า น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง ประเภทแกงเช่น แกงฮังเล อาหารพื้นเมืองอื่นๆ เช่น แหนม ไส้อั่ว แคบหมู และผักต่างๆ นิยมรับประทานอาหารรสกลางๆ มีรสเค็มนำเล็กน้อย รสเปรี้ยวและหวานมีน้อยมาก นิยมทาน เนื้อหมู เพราะหาได้ง่ายราคาไม่แพง สำหรับอาหารทะเลนิยมน้อยเพราะราคาแพง เนื่องจากอยู่ห่างไกลทะเล


ศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือ ภาษา

ภาษาภาคเหนือ
ภาษาถิ่นที่ใช้ในภาคเหนือตอนบน หรือภาษาในอาณาจักรล้านนาเดิม มักจะพูดกันมาก
ใน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง ตาก และ แพร่ และยังมีการพูดและการผสมภาษากันในอุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก และเพชรบูรณ์อีกด้วย

นอกจากนี้ คำเมืองเป็นภาษาของคนไท-ยวน ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยหรืออาณาจักรล้านนา และ อาณาจักรโยนกในอดีต ปัจจุบันกล่มคนไท-ยวนได้กระจัดกระจายและมีถิ่นที่อยู่ในจังหวัดสระบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดนครราชสีมาอีกด้วย

คำเมืองมีไวยากรณ์เหมือนกับภาษาไทยกลางแต่ใช้คำศัพท์ไม่เหมือนกัน แต่เดิมได้ใช้ คู่กับ ตั๋วเมือง,ตัวเมือง ซึ่งเป็นตัวอักษรของอาณาจักรล้านนาที่อักษรมอญใช้เป็นต้นแบบ

ภาษาเหนือหรือภาษาล้านนาเป็นภาษาย่อยหรือภาษาถิ่นของภาษาไทย ใช้กันในดินแดนล้านนา 8 จังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน

ความแตกต่างของภาษาพูด (คำเมือง) ระหว่างภาษากลางและภาษาเหนือคือ การใช้คำศัพท์ พยัญชนะ สระ หรือวรรณยุกต์ต่างกัน ตัวอย่างเช่น

คำศัพท์ต่างกัน
(ภาษากลาง - ภาษาเหนือ)
ยี่สิบ - ซาว
ไม่ - บ่
เที่ยว - แอ่ว
ดู - ผ่อ
สวย - งาม
อีก - แหม
นาน - เมิน
สนุก, ดี, เพราะ - ม่วน
อร่อย - ลำ



คำศัพท์ตัวอย่าง(ภาษาเหนือ)จำนวนนับ
1 = นึ่ง 2 = สอง 3 = สาม 4 = สี่ 5 = ห้า 6 = ฮก 7 = เจ๋ด 8 = แปด 9 = เก้า 10 = ซิบ 11 = ซิบเอ๋ด 20 = ซาว 21 = ซาวเอ๋ด

พืช ผัก ผลไม้
มะละกอ = บะก้วยเต๊ศ กล้วยน้ำว้า = ก้วยอ่อง / ก้วยนิอ่อง มะตูม = บะปีน ส้มเขียวหวาน = ส้มเกลี้ยง เขียวหวาน แตงล้าน = ม่ะแต๋งซั้ง ( ร้านที่ทำให้เครือแตงพันขึ้นไป ทางเหนือเรียกว่า ซั้ง ) น้อยหน่า = ม่ะหน้อแหน้ / น้อยแหน้ บวบงู = ม่ะนอยงู มะเขือเปราะ = บะเขือผ่อย มะเขือยาว = บะเขือขะม้า - - ออกเสียง ม่ะเขือขะม่า / ม่ะเขือหำม้า มะระขี้นก = บะห่อย แตงกวา = บะแต๋ง กล้วย = เชียงใหม่ เรียก ก้วยใต้ ลำปาง เรียก ก้วยลิอ่อง หรือ ก้วย โก๊ย กล้วยน้ำว้า = ก้วยใต้ พุทรา = หม่ะตัน ละมุด = หม่ะมุด กระท้อน = บะตื๋น หมะต้อง มะปราง = บะผาง ฝรั่ง = บ่ะหมั้น,บะแก๋ว ขนุน = หม่ะหนุน,บ่ะหนุน มะพร้าว = บะป๊าว ส้มโอ = บะโอ ฟักทอง = บะฟักแก้ว /บะน้ำแก้ว/น้ำแก้ว ฟักเขียว = บะฟักหม่น มะแว้ง = บะแขว้งขม มะเขือพวง = บะแขว้ง /บ่ะแขว้งกุลา ลูกยอ = หม่ะต๋าเสือ มะเขือเทศ = บะเขือส้ม กระท้อน = บะตึ๋น ตะไคร้ = ชะไคร คึ่นช่าย = ผักกะพึน,กำพึน (กะปึน) ผักตำลึง = ผักแคบ ชะพลู = ผักแค ใบปูนา ปูลิง

สัตว์
จิ้งหรีด = จิ้กุ่ง,จิ้หีด ค้างคก = ค้างคาก กบตู่ ลูกอ๊อด = อีฮวก ปลาไหล = ปลาเอี่ยน ปลาเหยี่ยน จิ้งเหลน = จั๊ก-กะ-เหล้อ กิ้งก่า = จั๊ก-ก่า

เครื่องใช้
กรรไกร = มีดยับ มีดแซม กระดุม = บะต่อม เข็มขัด = สายแอว สายฮั้ง ช้อน = จ๊อน ทับพี = ป้าก ถุงเท้า = ถุง** ผ้าเช็ดตัว = ผ้าตุ้ม ผ้าห่ม = ผ้าต๊วบ ยาสูบ = ซีโย รองเท้า = เกือก /เกิบ รองเท้าฟองน้ำ = แค็บ

คำกริยา
กำปั้น หมัด = ลูกกุย โกรธ = โขด กลับ = ปิ๊ก (เช่น "เฮาปิ๊กบ้านละหนา") กางร่ม = กางจ้อง โกหก = วอก ขี้จุ๊ กิน = กิ๋น ก่าย = ปาด อิง ขโมย = ขี้ลัก ขี่หลังคน(เกาะ) = เก๊าะ ขี้เหนียว = ขี้จิ๊ คิด = กึ๊ด เครียด = เกี้ยด จริง = แต๊(เช่น "แต๊ก๊ะ" = "จริงหรอ") เจ็บ = เจ๊บ ใช้ = ใจ๊ ดู = ผ่อ เด็ก = ละอ่อน ตกคันได = ตกบันได เที่ยว = แอ่ว ทำ = ยะ(เช่น "ยะหยัง" = "ทำอะไร") นั่งพับเพียบ = นั่งป้อหละแหม้ นั่งขัดสมาธิ = นั่งขดขวาย นั่งยอง ๆ = นั่งข่องเหยาะ,หย่องเหยาะ นั่งไขว่ห้างเอาเท้าข้างหนึ่งพาดบนเข่า = นั่งปกขาก่ายง้อน นั่งวางเฉย นั่งหัวโด่ = นั่งคกงก(ก๊กงก) นั่งลงไปเต็มที่ตามสบาย(โดยไม่กลัวเปื้อน) = นั่งเป้อหละเหม้อ, นั่งเหม้อ พูด = อู้ รัก = ฮัก รู้ = ฮู้ ลื่นล้ม = ผะเริด วิ่ง = ล่น สวมรองเท้า = ซุบแข็บ สะดุด = ข้อง สวยจังเลยนะ = งามหลายน้อ สบายอกสบายใจ = ซว่างอกซว่างใจ๋ เหรอ = ก๊ะ ห่วง = ห่วง (คำเมืองแท้ๆคือ อ่วง ว้อง หรือ ข๋าง) เหนื่อย = อิด หม้อย ให้ = หื้อ อยาก = ไข อยากอ้วก อยากอาเจียน = ใขฮาก อร่อย = ลำ อร่อยมาก = จ๊าดลำ อย่าพูดมาก = จ๊ะไปปากนัก อย่าพูดเสียงดัง = จ๊ะไปอู้ดัง คิดไม่ออก = กึ๊ดหม่ะออก

คำวิเศษณ์ และอื่นๆ
ก็ = ก่ ** = ง่าว เช่น = เจ้น ถึง = เถิง ไม่ = หมะ(เช่น หมะใจ๊ = ไม่ใช้) นะ = เน้อ(เช่น เน้อครับ = นะครับ) เป็น = เป๋น ร่ม หมายถึง ร่มเงา = ฮ่ม ร่ม หมายถึง (ร่มกันแดด-กันฝน) = จ้อง ใหญ่ = หลวง(เช่น "หูหลวง" = "หูใหญ่") เหนียว = ตั๋ง ทุก = กุ๊ (เช่น กุ๊ๆ คน= ทุกๆคน) แบบนี้ อย่างนี้ = จะอี้ แบบนั้น อย่างนั้น = จะอั้น

คำนาม สรรพนาม
ฉัน = เปิ้น (สุภาพ) , ฮา(ไม่ค่อยสุภาพส่วนใหญ่ใชักับเพื่อนผู้ชาย) เธอ = ตั๋ว(สุภาพ) , คิง(ไม่ค่อยสุภาพส่วนใหญ่ใชักับเพื่อนผู้ชาย) เขา(สรรพนามบุรุษที่ 3) = เปิ้น ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา = อุ้ย (เช่น แม่อุ้ย ป้ออุ้ย) ผู้ชาย = ป้อจาย ผู้หญิง = แม่ญิง พวกเขา = หมู่เขา พวกเธอ = สูเขา (สุภาพ), คิงเขา(ไม่ค่อยสุภาพส่วนใหญ่ใชักับเพื่อนผู้ชาย) พวกเรา = หมู่เฮา, เฮาเขา พ่อ = ป้อ พี่ชาย = อ้าย,ปี่ พี่สาว = ปี่ ยี่สิบบาท = ซาวบาท ยี่สิบเอ็ด = ซาวเอ็ด เรือน = เฮือน โรงเรียน = โฮงเฮียน อิฐ = บ่าดินกี่ คำเล่าลือ = กำสีเน ปฏิทิน = ปั๊กกะตืน คำเมืองแท้ๆจะแปลว่าปฏิทิน

สี
ดำคึลึ = คนอ้วนล่ำผิวดำ ดำผืด = ฝูงนกฝูงกาขนดำอยู่เป็นฝูง ดำคุมมุม = ดำสลัวอยู่ในความมืด ดำขิกติ้ก = ดำซุปเปอร์ ดำคิมมิม = คนผอมกระหร่อง ผิวดำ ดำเหมือนเเหล็กหมก = ดำเหมือนเหล็กไหม้ไฟ ดำเหมือนหมิ่นหม้อ = ดำเหมือนเขม่าติดหม้อดินที่ไหม้ไฟ ดำผึด = ดำทั่วทั้งแถบ ดำผึดำผึด = ดำมากๆทั่วๆไป แดงฮ่าม = แดงอร่าม แดงเผ้อเหล้อ = แดงเป็นจุดใหญ่จุดเดียว แดงปะหลึ้ง = แดงจัดมาก แดงปะหลิ้ง = แดงอมชมพู แดงเป็นจุดเล็กๆ เหลืองฮ่าม = เหลืองอร่าม เหลืองเอิ่มเสิ่ม = เหลืองอมส้ม เขียวอุ้มฮุ่ม = เขียวแก่ เขียวปึ้ด = เขียวจัดมาก มอยอ้อดฮ้อด = สีน้ำตาลหม่น ขาวจั๊วะ = ขาวนวล ขาวโจ๊ะโฟ้ะ = ขาวมากๆ ขาวเผื้อะขาวเผือก = มองไปทางไหนก็ขาวไปหมด เปิดเจ้อะเห้อะ = สีขาวซีด หม่นซ้อกป้อก = หม่นมัวหรือเทาอ่อน หม่นโซ้กโป้ก = หม่นสกปรกหรือสีเทาแก่ หมองซ้อกต๊อก = ดูเก่า หรือซีด จืดไป เส้าแก๊ก = สีหม่นหมองมาก เส้าตึ้มตื้อ = ใบหน้าหมองคล้ำ สีมืดไม่สดใส ลายขุ่ยหยุ่ย = ลายพร้อย หรือลายเป็นดอกดวง ใสอ้อดหล้อด = สดใสแบบอาบน้ำเสร็จใหม่ๆ ใส่ยงยง = สว่างจ้า

แสง-เสียง
มืดแถ้ก = มืดสนิท มืดสะลุ้ม = มืดสลัวๆ มืดซุ้มซิ้ม = มืดนิดๆ มืดวุ่ยวาย = มืดลางๆ ยังพอจำหน้ากันได้ แจ้งฮุมหุฮุมหู่ = สว่างลางๆเลือนๆ แจ้งฮ่าม = สว่างจ้าสว่างเรืองรอง แจ้งลึ้ง = สว่างโร่เห็นได้ชัด แจ้งดีขวายงาม = สว่างปลอดโปร่งโล่งใจไม่มีอุปสรรค หันวุยวาย = เห็นเลือนๆลางๆ ดั้กปิ้ง = เงียบกริบ ดั้กปิ้งเย็นวอย = เงียบเชียบ ดั้กแส้ป = ไม่ได้ข่าวคราว ดั้กก๊กงก = นั่งนิ่ง ดังทึดทึด = เสียงดังก้องไปทั่ว

กลิ่น รส
เหม็นโอ๊ง, เหม็นโอ่ = เหม็นเน่า จ๋างแจ้ดแผ้ด = จืดชืด ขมแก๊ก = ขมมาก ส้มโจ๊ะโล๊ะ = รสเปรี้ยวมาก ฝาดหยั่งก้นตุ๊ = รสฝาดมาก

ศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือ ชนเผ่าพื้นเมือง

ชนเผ่าพื้นเมืองภาคเหนือ

ชนเผ่ากะเหรี่ยง
ประวัติความเป็นมา

กะเหรี่ยงเป็นชนเผ่าที่จัดได้ว่ามีหลายเผ่าพันธุ์ หลายภาษา มีการนับถือศาสนาที่ต่างกัน แต่กะเหรี่ยงดั้งเดิมจะนับถือผี เชื่อเรื่องต้นไม้ป่าใหญ่ ภายหลังหันมานับถือพุทธ คริสต์ เป็นต้น กะเหรี่ยง มีถิ่นฐานตั้งอยู่ที่ประเทศพม่า แต่หลังจากถูกรุกรานจากสงคราม จึงมีกะเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ประเทศไทย กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย กะเหรี่ยงสะกอ หรือที่เรียกนามตัวเองว่า ปากะญอ หมายถึงคน หรือมนุษย์นั้นเอง กะเหรี่ยงสะกอเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง โดยมีมิชชันนารีเป็นผู้คิดค้นดัดแปลงมาจากตัวหนังสือพม่า ผสมภาษาโรมัน กลุ่มนี้หันมานับถือศาสนาคริสต์เป็นส่วนใหญ่ กะเหรี่ยงโปร์นั้นเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเคร่งครัดในประเพณี พบมากที่ อำเภอ แม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภอ อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และแถบตะวันตกของประเทศไทย คือ กะเหรี่ยงบเว พบที่ อำเภอ ขุนยวม แม่ฮ่องสอน ส่วนปะโอ หรือตองสูก็มีอยู่บ้าง แต่พบน้อยมากในประเทศไทย ชนเผ่า "ปกากะญอ" เป็นชนเผ่าที่บอกกล่าวถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมานับร้อยนับพันเรื่อง เรียงร้อยเก็บไว้ในเเนวของนิทาน อาจจะไม่ใช่หลักฐานที่เเน่ชัด เเต่ก็พยายามที่จะเล่าสืบทอดให้ลูกหลานได้รู้ ถึงความเป็นมาของเผ่าพันธุ์ และวัฒนธรรมของตัวเอง เล่ากันตั้งแต่สมัยที่พระเจ้าสร้างโลก พระองค์ได้สร้างมนุษย์ คู่แรก คือ อดัม กับเอวา ทั้งสองคนได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสวน (เอเดน) ที่พระองค์ได้สร้างไว้ ทั้งสองได้ทำ ผิดกฎ ของสวรรค์ จึงถูกเนรเทศลงมาใช้กรรมอยู่ในโลกจนกระทั่งมีลูกหลานสืบเชื้อสายมาจนถึงทุกวันนี้

ชนเผ่าอาข่า
ตำนานชนเผ่าอาข่า
ตามตำนานการเล่าขานมาของชนเผ่าอ่าข่า ปากต่อปากคนต่อคน มายาวนานกว่า 60 ชั่วอายุคน เพื่อเป็นการสืบหาต้นตระกุลว่าเป็นใคร มาจากไหน ซึ่งชนเผ่าอ่าข่าเรียกว่า จึ เล่าขานกันว่า อู่มะ , อู่ว้อง , ว้องยอก , ยอกยือ , ยือโท , โทมา , มายอ , ย่อแน่ , แน่แป , แปซุ้ม , ซุ้มมีโอ ฯลฯ อ่าข่ามีความเชื่อว่าก่อนมาถึงซุ้มมีโอ นั้นเป็นทุกสิ่งที่ปรากฏในจักรวาล เช่น ลม ฟ้า อากาศ ฯลฯ ทุกสิ่งพูดได้ และหลังจากซุ้มมีโอก็มีสองอย่างคือผีและคน ซึ่งมีแม่เป็นคนเดียว เชื่อว่ามนุษย์เรามีหน้าอกกว้าง 7 ศอก เกิดออกมาพูดได้เดินได้ และมีมนุษย์คนหนึ่งที่มีภรรยาท้องแก่จวนจะคลอด ผู้เป็นสามีได้ไปหาไม้เพื่อมาทำเป็นครกกระเดื่อง ระหว่างที่ไปนั้นภรรยาได้คลอดลูกชายออกมา เมื่อคลอดออกมาลูกจึงถามแม่ว่าพ่อไปไหน แม่จึงตอบไปว่าไปเอาครกกระเดื่องในป่า ลูกจึงเดินทางไปตามหาพ่อในป่า พอไปถึงก็เจอพ่อกำลังโค่นต้นไม้ขนาดใหญ่ และไม้ล้มไปทับลูกชาย กิ่งไม้แทงบริเวณหัวไหล่ ลูกจึงตะโกนบอกพ่อว่าหนามแทงที่หัวไหล่ พ่อจึงใช้ขวานฟันเอากิ่งไม้ที่หัวไหลออก ทำให้มนุษย์เราตัวเล็กลงตั้งแต่บัดนั้นมา เพราะอุบัติเหตุถูกต้นไม้ทับ หลังซุ้มมีโอ , โอ โทเล , โท่เล จุม , จุมมอ แย , มอแย จา , จาทื่อสี่ , ที่สี่ ลี้ , ลี้ภู แบ , ภูแบ อู , อูโย ย่า , โยย่า ช่อ , ช่อมอ โอ๊ะ , มอโอ๊ะ เจ่ , เจ่ เท่อ เพอะ , เท่อ เพอะ ม้อ , เท่อเพอะม้อถือว่าเป็นอ่าข่าคนแรก ส่วน เจ่ เท่อ เพอะ คือเป็นแม่รวมของผีและคน และเป็นแหล่งเกิดศาสนาต่างๆบนโลก ซึ่งอ่าข่าเรียกว่า อะมา มาตะ ซึ่งแยกคำได้ดังนี้ อะมา แปลว่าแม่ มาตะ แปลว่าร่วมกัน ความหมายคือ แม่ร่วมของคนและผี มีลักษณะข้างหลังมีนม 9 เต้า เอาไว้สำหรับผี ด้านหน้าอกมี 2 เต้าสำหรับมนุษย์ มนุษย์เราจึงมีเพียงแค่สองเต้านมเท่านั้น ช่วงที่ผีและคนอยู่ในครอบครัวเดียวกัน ให้ผีทำงานกลางคืน แล้วให้มนุษย์นอน กลางวันมนุษย์ทำงาน ให้ผีนอน เสือกับควายอยู่ด้วยกัน นกอินทรีย์กับไก่อยู่ด้วยกัน ดำเนินชีวิตอย่างนี้มาตลอด

ชนเผ่าปะหล่อง
ประวัติความเป็นมา
ปะหล่อง เป็นชนเผ่าที่อพยพจากเมียนมาร์เข้าสู่ไทย เมื่อประมาณปี พ.ศ.2527 เรียกตัวเองว่า "ดาละอั้ง" คำว่า ปะหล่องเป็นภาษาไทยใหญ่ ซึ่งใช้เรียกชนกลุ่มนี้นอกจากนี้ยังมีคำเรียกที่แตกต่างกันออกไปอีก เช่น ชาวเมียนมาร์เรียกปะหล่องว่า "ปะลวง" และไทยใหญ่บางกลุ่มก็ใช้คำว่า "คุนลอย" ซึ่งมีความหมายว่าคนดอย หรือคนภูเขาแทนคำว่า "ปะหล่อง" เอกสารทางประวัติศาสตร์หลายฉบับกล่าวถึงชนชาวปะหล่องว่า เป็นพลเมืองกลุ่มหนึ่งภายใต้การปกครองของนครรัฐแสนหวี หนึ่งในเก้านครรัฐของอาณาจักไตมาว ซึ่งเป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่ของชนไต ครั้งพุทธศักราช 1200 โดยมีศูนย์กลางของอาณาจักรในขณะนั้นอยู่บริเวณเมืองแสนหวีในรัฐฉานประเทศเมียนมาร์ (รายงานบางฉบับกล่าวว่าปะหล่องมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในโกสัมพี ซึ่งก็เป็นข้อมูลที่ตรงกัน เพราะคำว่าโกสัมพี เป็นคำเรียกนครรัฐแสนหวี และกินความหมายครอบคลุมรัฐฉานได้ทั้งหมด) จำนวนประชากรปะหล่อง โดยการสำรวจขององค์การพิทักษ์สิทธิมนุษยชนประมาณว่ามี 1 ล้านคน ถิ่นที่อยู่กันหนาแน่น คือ บริเวณเทือกเขาในรัฐฉาน แถบเมืองตองแปง (น้ำซัน) สีป้อเมืองมิต และทางตอนใต้ของรัฐฉาน คือ ที่เมืองเชียงตุง นอกจากนั้นยังพบว่าปะหล่องกระจัดกระจายกันอยู่ทางใต้ของรัฐคะฉิ่น และภาคตะวันตกเฉียงใต้ของยูนนาน ในประเทศจีน อุดร วงศ์ทับทิม กล่าวไว้ใน "ดนตรีพื้นบ้านปะหล่อง" ว่า เมืองเหนือสุดที่ชาวปะหล่องอาศัยอยู่คือ เมืองน้ำคำ ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับเมืองเลียวลีของสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือที่ชาวปะหล่องเรียกว่า เมืองมาว ถัดลงมาคือ เมืองน้ำซัน น้ำตู โมโล เมืองมิต เมืองกอก เมืองโหลง น้ำใส มานาม มานพัต จาวโม ปูโหลง เจียงตองและตากวาง ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทย บริเวณดอยอ่างขาง เขตอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 15 กิโลเมตร

ชนเผ่าลาหู่
ประวัติความเป็นมา
ตามประวัติศาสตร์ของชนชาติ “ลาหู่” มีมานานไม่ต่ำกว่า 4,500 ปี โดยชาวลาหู่มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในธิเบต และอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ต่อมาได้ทยอยอพยพลงมาอยู่ทางตอนใต้ของจีน โดยแบ่งออกเป็นสองสาย คือส่วนหนึ่งอพยพเข้ามาในแคว้นเชียงตุง ประเทศพม่า เมื่อพ.ศ. 2383 และราว พ.ศ. 2423 ได้เข้ามาอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย โดยตั้งรกรากที่อำเภอฝาง จ.เชียงใหม่ เป็นแห่งแรก อีกส่วนหนึ่งได้อพยพเข้าไปในประเทศลาวและเวียดนาม ทั้งนี้ชนเผ่าลาหู่ได้แบ่งเป็นเผ่าย่อยอีกหลายเผ่า อาทิ ลาหู่ดำ ลาหู่แดง ลาหู่เหลือง ลาหู่ขาว ลาหู่ปะกิว ลาหู่ปะแกว ลาหู่เฮ่กะ ลาหู่ลาบา ลาหู่เชแล ลาหู่บาลา เป็นต้น
ปัจจุบันในประเทศไทยมีชนเผ่าลาหู่อาศัยอยู่ราว 1.5 แสนคน โดยกระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ตามแนวชายแดนไทย - พม่ากว่า 800 หมู่บ้าน พื้นที่ที่มีชาวลาหู่อาศัยอยู่มากได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และลำปาง โดยเฉพาะตามพื้นที่ติดชายแดน ส่วนใหญ่แล้วชนเผ่าลาหู่ มักจะอาศัยปะปนกับชนเผ่าอื่น ๆ หรือคนไทย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มหรือเป็นหมู่บ้าน เผ่าลาหู่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ ลาหู่แดง ซึ่งมีการนับถือผี โดยโตโบหรือผู้นำทางศาสนา ส่วนลาหู่ดำหรือลาหู่เหลือง ก็มีการนับถือผีเช่นกัน นอกจากนี้เผ่าลาหู่ก็ยังมีการนับถือศาสนาคริสต์อีกด้วย

ศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือ การแสดง

การแสดงของภาคเหนือ

การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ
การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ เป็นศิลปะการรำ และการละเล่น ที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า “ฟ้อน” มีลักษณะการแสดงลีลาท่ารำที่แช่มช้า อ่อนช้อย นุ่มนวล และสวยงาม แต่การแสดงบางชุดได้รับอิทธิพลจากศิลปะของพม่า เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนเงี้ยว ฟ้อนมาลัย ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ฟ้อนไต ฟ้อนกิงกะหร่า ฟ้อนโต ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง ฟ้อนบายศรี ตีกลองสะบัดชัย ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนโยคีถวายไฟ การแต่งกายแบบพื้นบ้านภาคเหนือ ดนตรีที่ใช้คือ วงดนตรีพื้นบ้าน เช่น วงสะล้อ ซอ ซึง วงปูเจ่ วงกลองแอว



















การละเล่นพื้นเมืองภาคเหนือ
ในภาคเหนือ ภูมิประเทศเป็นป่าเขา ต้นน้ำลำธาร อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ การทำมาหากินสะดวกสบาย ชาวเหนือจึงมีนิสัยอ่อนโยน ยิ้มแย้มแจ่มใส มีน้ำใจไมตรี การแสดงพื้นเมืองจึงมีลีลาอ่อนช้อย งดงามและอ่อนหวานการแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ เรียกกันว่า ฟ้อน มีผู้แสดงเป็นชุดเป็นหมู่ ร่ายรำท่าเหมือนกัน แต่งกายเหมือนกัน มีการแปรแถวแปรขบวนต่าง ๆ ลักษณะของการแสดงพื้นเมือง ได้แก่ ลีลาการเคลื่อนไหว เป็นไปตามเอกลักษณ์ของแต่ละภาคเครื่องแต่งกายเป็นลักษณะพื้นเมืองของภาคนั้น ๆ เครื่องดนตรี เป็นของท้องถิ่น ได้แก่ ปี่แน กลองตะโล้ดโป๊ด ฉาบใหญ่ ฆ้องโหม่ง ฆ้องหุ่ย เพลงบรรเลงและเพลงร้อง เป็นทำนองและสำเนียงท้อง
ศิลปะและดนตรี
คนภาคเหนือมีชีวิตอยู่กับธรรมชาติจึงมีจิตใจอ่อนโยน เป็นคนมีนิสัยรักความงาม รักศิลปะและดนตรี ด้านศิลปะนับว่ามีความชำนาญเป็นเยี่ยม ชายชาวเหนือมีฝีมือด้านช่างเป็นเยี่ยม งานศิลปะเด่น ๆ เช่น งานปูนปั้น งานแกะสลักไม้ การทำเครื่องเงิน เครื่องเขิน ล้วนแสดงให้เห็นถึงฝีมือทางด้านศิลปะที่งดงามยิ่ง

ทางด้านดนตรีและการละเล่นก็จะมีวงดนตรีที่เรียกว่า วงสะล้อ ซอ ซึง ส่วนการฟ้อนก็จะมีฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน การละเล่นพื้นบ้านก็มีการจ้อย การซอ (ลักษณะคล้ายหมอลำทางภาคอีสาน) ซึ่งแสดงเป็นเรื่องราว แสดงการขับเกี้ยวพาราสีกัน การแสดงซอพื้นเมืองจะปรากฏให้เห็นตามงานเทศกาลทั่วไป ปัจจุบันแม้จะลดน้อยลงไปบ้าง แต่ก็ยังเป็นที่นิยมกันอยู่

ศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือ การแต่งกาย

การแต่งกายของภาคเหนือ

ประวัติการแต่งกาย
การแต่งกายของชาวล้านนา แม้จะเป็นชนกลุ่มใดก็ตาม ก็จะมีลักษณะร่วมกันอยู่ โดยเฉพาะ จะประกอบด้วยเครื่องนุ่งและเครื่องห่ม ซึ่งแม้ว่าเวลาจะผ่านเลย นับตั้งแต่สมัยของพระญามังรายมาจนถึงสมัยเชื้อสายของพระเจ้ากาวิละแล้วก็ตาม ก็ย่อมจะมีลักษณะไม่ต่างกัน ในแง่ของผ้าที่ทอขึ้นในท้องถิ่นและการใช้งานที่ไม่ต่างกัน จึงน่าจะมีความคล้ายคลึงกันอยู่ในแง่ของรูปแบบและประเพณีนิยม การแต่งกายของชายหญิงชาวล้านนามีลักษณะดังต่อไปนี้

การแต่งกายพื้นบ้านล้านนา
“ล้านนา” ในปัจจุบันหมายถึง อาณาเขต 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน การแต่งกายพื้นเมืองของล้านนา จึงหมายถึงการแต่งกายของชนกลุ่มต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในล้านนาในอดีตอาณาจักรล้านนาในบางยุคสมัยอาจครอบคลุมไปถึงรัฐต่างๆ เช่นสิบสองปันนา รัฐฉาน เชียงตุง เป็นต้น ซึ่งต่างก็เคยมีความสัมพันธ์กันมาช้านาน ชนกลุ่มใหญ่ที่สร้างสมอารยธรรมในล้านนาก็คือ “ชาวไทยวน” ซึ่ง ปัจจุบันเรียกตัวเองว่า “คนเมือง” นอกจากนี้มีวัฒนธรรมกลุ่มชนต่างๆ ผสมผสานกันได้แก่ ชาวไทลื้อ ไทเขิน ไทใหญ่(ไต) ชาวไทยวนในล้านนามีวัฒนธรรมในการทอผ้าเพื่อใช้สอยและแต่งกายเป็นเอกลักษณ์มาแต่โบราณ จากหลักฐานด้านจิตรกรรมฝาผนังวัดต่างๆ ในเชียงใหม่และน่าน ในเชียงใหม่เช่นวัดบวกครกหลวง วัดพระสิงห์วรวิหาร และวัดป่าแดด จิตรกรได้เขียนไว้เป็นหลักฐานประกอบกับการบันทึกของมิชชั่นนารี หรือผู้รู้ที่เล่าสืบต่อกันมา



การแต่งกายยุคฟื้นฟูวัฒนธรรม
ปัจจุบันชาวเชียงใหม่ได้มีการฟื้นฟูวัฒนธรรมการแต่งกายพื้นเมืองขึ้น ซึ่งมีหลายรูปแบบตามเผ่าพันธุ์ของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในอาณาจักรล้านนาในอดีต เป็นการประยุกต์รูปแบบของเสื้อผ้าในยุคดั้งเดิมมาแต่งโดยพยายามรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของชาวพื้นเมืองเชียงใหม่ไว้ ดังนั้น จึงได้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบในรูปแบบการแต่งกายพื้นเมือง โดยคณะอนุกรรมการวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่เมื่อปีพุทธศักราช๒๕๓๔



การแต่งกายของคนภาคเหนือที่เป็นชาวบ้านทั่วไป ชายจะนุ่งกางเกงขายาวลักษณะแบบกางเกงขายาวแบบ 3 ส่วน เรียกติดปากว่า “เตี่ยว” หรือ เตี่ยวสะดอ ทำจากผ้าฝ้าย ย้อมสีน้ำเงินหรือสีดำ ส่วนเสื้อก็นิยมสวมเสื้อผ้าฝ้ายคอกลม แขนสั้น แบบผ่าอก กระดุม 5 เม็ด สีน้ำเงินหรือสีดำ เช่นเดียวกัน เรียกว่า เสื้อม่อฮ่อม ชุดนี้ใส่เวลาทำงาน

สำหรับหญิงชาวเหนือจะนุ่งผ้าซิ่น(ผ้าถุง)ยาวเกือบถึงตาตุ่ม นิยมนุ่งทั้งสาวและคนแก่ ผ้าถุงจะมีความประณีต งดงาม ตีนซิ่นจะมีลวดลายงดงาม ส่วนเสื้อจะเป็นเสื้อคอกลม มีสีสัน ลวดลายสวยงามเช่นเดียวกัน เรื่องการแต่งกายนี้ หญิงชาวเหนือจะแต่งตัวให้สวยงามอยู่เสมอ ชาวเหนือถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ จนถึงกับมีคำสุภาษิตของชาวเหนือสั่งสอนสืบต่อกันมาเลยว่า

ตุ๊กบ่ได้กิน บ่มีไผตามไฟส่องต้อง
ตุ๊กบ่ได้นุ่งได้ย่อง ปี้น้องดูแควน
ทุกข์(จน)ไม่มีจะกิน (อิ่มหรือหิว) คนไม่รู้ (ไม่มีใครเอาไฟมาส่องดูในท้องได้) ทุกข์(จน)เพราะไม่มีอะไรมาแต่งตัว (คนเห็น) ญาติพี่น้องดูถูกเอาได้



ที่มา 1.http://www.thaifolk.com/doc/northen.htm

2.http://images.google.co.th/imgres?imgurl=http://www.infocomm.mju.ac.th/main/home/uploads/images/studentshowcase/Dress/00006_69.jpg&imgrefurl=http://www.infocomm.mju.ac.th/main/home/uploads/images/studentshowcase/Dress/page2.html&usg=__xxzI5YX1jMP8D2gUXzA9j85uqAA=&h=752&w=521&sz=308&hl=th&start=32&sig2=M_ZHsvjvCvIe__3tK_8NgQ&itbs=1&tbnid=s4stGdIuTicDmM:&tbnh=141&tbnw=98&prev=/images%3Fq%3D%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25A3%25E0%25B9%2581%25E0%25B8%2595%25E0%25B9%2588%25E0%25B8%2587%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25A2%25E0%25B8%25A0%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%2584%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%25AB%25E0%25B8%2599%25E0%25B8%25B7%25E0%25B8%25AD%26gbv%3D2%26ndsp%3D21%26hl%3Dth%26sa%3DN%26start%3D21&ei=qxwvS7HoDsmekQWZgr3ECA



Giant Backyard Spider