ปฏิทินของฉัน

gestbook

ความหมายและจรรยาบรรณของครู

มีผู้ให้ความหมายเกี่ยวกับครู ไว้ดังนี้
พระภาวนา วิริยะคุณ กล่าวว่าครูมาจากคำว่า ครุ แปลว่าหนัก ครุเป็นคำเดียวกับคำว่า คารวะ ซึ่งแผลงเป็นเคารพ แปลว่าตระหนักหรือซาบซึ้ง คือรู้ได้ด้วยปัญญา
ครู แปลว่าหนัก ครูย่อมเป็นผู้ผ่านการศึกษาค้นคว้ามาแล้วอย่างหนักเพื่อสะสมความรู้เอาไว้ใช้ถ่ายทอดศิษย์
ครู แปลว่าตระหนัก ครูเป็นผู้มีปัญญามาก เมื่อจะกระทำสิ่งใดครูจึงตระหนักได้ว่าสิ่งนั้นผิดหรือถูก ดีหรือเลว ควรหรือไม่ควร เมื่อทำแล้วจะเป็นบุญหรือบาป

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 มาตรา 4 ให้คำจำกัดความคำว่าครูและอาจารย์ ดังนี้
ครู หมายความว่า บุคลากรวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอน และการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีต่างๆ ในสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน
อาจารย์ หมายความว่า บุคลากรวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและการวิจัยในสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษา ระดับปริญญาของรัฐและเอกชน

ข้อบังคับครุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ.2548 ให้คำจำกัดความคำว่าครูไว้ดังนี้
ครู หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพหลักทางด้านการเรียนการสอน และการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่างๆ ในสถานศึกษาปฐมวัย ขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญา ทั้งของรัฐและเอกชน
สรุปความหมายของครู
ครู หมายถึง ผู้ที่มีหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอน เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และสามารถถ่ายทอดความรู้สาขาใดสาขาหนึ่งไปสู่ศิษย์ โดยการหล่อหลอมให้ศิษย์เกิดความเจริญงอกงามทั้งความรู้และจิตใจ


จรรยาบรรณวิชาชีพครู
(Code of Ethics of Teaching Profession)
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์
ความหมาย
จรรยาบรรณวิชาชีพครู คือ กฎแห่งความประพฤติสำหรับสมาชิกวิชาชีพครู ซึ่งองค์กรวิชาชีพครูเป็นผู้กำหนด และสมาชิกในวิชาชีพทุกคนต้องถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด หากมีการละเมิดจะมีการลงโทษ
ความสำคัญ
จรรยาบรรณวิชาชีพครู มีความสำคัญต่อวิชาชีพครูเช่นเดียวกับที่จรรยาบรรณวิชาชีพ มีความสำคัญต่อวิชาชีพอื่น ๆ ซึ่งสรุปได้ 3 ประการ คือ
1. ปกป้องการปฏิบัติงานของสมาชิกในวิชาชีพ
2. รักษามาตรฐานวิชาชีพ
3. พัฒนาวิชาชีพ

ลักษณะของจรรยาบรรณวิชาชีพครู
จรรยาบรรณวิชาชีพครู จะต้องมีลักษณะ 4 ประการ คือ
1. เป็นคำมั่นสัญญาหรือพันธะผูกพันต่อผู้เรียน (Commitment to the student)
2. เป็นคำมั่นสัญญาหรือพันธะผูกพันต่อสังคม (Commitment to the society)
3. เป็นคำมั่นสัญญาหรือพันธะผูกพันต่อวิชาชีพ (Commitment to the profession)
4. เป็นคำมั่นสัญญาหรือพันธะผูกพันต่อสถานปฏิบัติงาน (Commitment to the employment practice)

จรรยาบรรณครู 9 ประการ
1.ครูต้องรักและเมตตาศิษย์ โดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือ ส่งเสริมให้กำลังใจ ในการศึกษาเล่าเรียนแก่ ศิษย์โดยเสมอหน้า
2.ครูต้องอบรม สั่งสอน ฝึกฝน สร้างเสริมความรู้ ทักษะ และ นิสัยที่ถูกต้อง ดีงามให้เกิดแก่ศิษย์อย่างเต็มความสามารถ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
3.ครูต้องประพฤติ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ทั้งทาง กาย วาจา และจิตใจ
4.ครูต้องไม่ทำตนเป็นปฏิปักษ์ ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์
5.ครูต้องไม่แสวงหาประโยชน์ อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และไม่ใช้ให้ศิษย์กระทำการใด ๆ อันเป็นการหาประโยชน์ให้แก่ตนโดยมิชอบ
6.ครูย่อมพัฒนาตนเอง ทั้งในด้านวิชาชีพ ด้านบุคลิกภาพ และวิสัยทัศน์ให้ทันต่อ การพัฒนาการทางวิชาการ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่เสมอ
7.ครูย่อมรักและศรัทธาในวิชาชีพครู และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพครู
8.ครูพึงช่วยเหลือเกื้อกูลครูและชุมชนในทางสร้างสรรค์
9.ครูพึงประพฤติ ปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการอนุรักษ์ และพัฒนาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย


ครู-นักประชาธิปไตย จุดเริ่มต้นสร้างสังคมประชาธิปไตย
การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำลังเป็นที่สนใจของประชาชน และแม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็นอยู่บ้าง แต่เนื้อหาในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ได้สะท้อนให้เห็นความปรารถนาของสังคมที่ต้องการเป็นสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง เช่น การเพิ่มสิทธิและเสรีภาพมากขึ้นและมีมาตรการคุ้มครองที่ชัดเจน การเปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้เสนอชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารงานท้องถิ่น การกระจายอำนาจ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิฟ้องร้องรัฐที่ใช้อำนาจไม่เป็นธรรมได้ เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน การสร้างสังคมประชาธิปไตยในภาคปฏิบัติอาจไม่ง่ายดายนัก เนื่องจากประชาชนส่วนหนึ่งยังขาดความเข้าใจรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้คนไทยมีแนวคิดและวิถีปฏิบัติในกรอบของประชาธิปไตย เพื่อลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเริ่มจากการปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็ก
ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนค่อนข้างมากต่อการสร้างและหล่อหลอมเด็กไทยให้มีแนวคิดและพฤติกรรมแบบประชาธิปไตย คือ ครูผู้สอน จำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้เป็น “นักประชาธิปไตย” เสียก่อน เพื่อให้ผู้เรียนเห็นแบบอย่างที่ดี อันจะช่วยให้การปลูกฝังแนวคิดและวิธีปฏิบัติแบบประชาธิปไตยมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การพัฒนาครูให้เป็น “ครู-นักประชาธิปไตย” ในที่นี้มิได้มุ่งให้ความหมายเฉพาะครูที่มีพฤติกรรมตามกรอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ให้ขอบข่ายถึงการเป็นผู้มีแนวคิด ทัศนคติและค่านิยมเป็นนักประชาธิปไตยด้วย
คำนิยามของ “ครู-นักประชาธิปไตย” หมายถึง ครูที่มีค่านิยม แนวคิดและพฤติกรรมการเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ เคารพในสิทธิส่วนบุคคล และมีส่วนร่วมและการตัดสินใจในนามกลุ่ม ใช้สิทธิของตนและกลุ่มตามระบอบประชาธิปไตยในทางที่ถูกต้อง เกิดประโยชน์สูงสุดในภาพรวม และมีความปรารถนาที่จะเป็นแบบอย่างในการถ่ายทอดแนวคิดประชาธิปไตยสู่ผู้เรียนและคนในสังคม
ลักษณะของครู-นักประชาธิปไตย
เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ พื้นฐานของแนวคิดประชาธิปไตย คือ การเห็นคุณค่าของมนุษย์ ครูนักประชาธิปไตย จะเข้าใจและเห็นคุณค่าในเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล ที่แม้มีความแตกต่างกันตามฐานะ เกียรติยศ รูปร่างหน้า หรือเชื้อชาติ ฯลฯ และปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเหมาะสมและเท่าเทียม โดยเคารพในสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และรู้จักใช้สิทธิเสรีภาพของตนในขอบเขตที่เหมาะสม
เคารพในสิทธิส่วนบุคคล ครู-นักประชาธิปไตยย่อมรู้จักที่จะใช้สิทธิเสรีภาพของตนในขอบเขตที่เหมาะสม โดยไม่ล่วงละเมิดหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของผู้อื่นที่พึงมี จนทำให้ผู้อื่นเดือนร้อนหรือไม่ได้ใช้สิทธิเสรีภาพของตนเองอย่างที่ควรจะเป็น หรือกีดกันไม่ให้เกิดการแสดงความคิดเห็นและการกระทำที่แตกต่างจากตนหรือกลุ่มของตน
ใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและเคารพต่อการตัดสินใจของกลุ่ม ครูนักประชาธิปไตยควรใช้สิทธิในการเข้าไปมีส่วนแสดงความคิดเห็นในกลุ่ม แต่ในขณะเดียวกันควรเคารพในมติของกลุ่ม ซึ่งต้องอยู่ภายใต้ความถูกต้อง และไม่ลดสิทธิของกลุ่มคนที่มีเสียงข้างน้อย นั่นหมายความถึง ครูต้องมีลักษณะของผู้ที่มีความยุติธรรม ไม่ลำเอียง และรักษาความถูกต้องร่วมด้วย
แนวทางพัฒนาสู่การเป็นครู-นักประชาธิปไตย
ทำความเข้าใจในหลักการและแนวคิดประชาธิปไตย ครูควรเริ่มศึกษาหลักการและแนวคิดประชาธิปไตยที่ถูกต้อง โดยสามารถศึกษาจากหนังสือ หรือเอกสารที่อธิบายถึงแนวคิดของประชาธิปไตย และวิธีการปฏิบัติตนในฐานะที่อยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ครูควรเป็นผู้ที่กล้าเสนอความคิดเห็น และมีส่วนร่วมตัดสินใจในสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้องชอบธรรม และเกิดประโยชน์ต่อตนผู้อื่นในสังคม โดยก้าวข้ามอุปสรรคความกลัวต่าง ๆ เช่น กลัวจะไม่ได้รับการยอมรับ กลัวที่จะแปลกแยกจากผู้อื่น กลัวไม่มีเกียรติ กลัวการดูถูกเหยียดหยาม เป็นต้น เพราะความกลัวเป็นอุปสรรคของการพัฒนาความเป็นนักประชาธิปไตย
เปิดกว้างทางความคิด ครูไม่ถือเอาความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ แต่ควรเปิดกว้างที่จะให้ผู้อื่นแสดงความเห็นได้หลากหลาย และเป็นผู้ฟังที่ดี เช่น รับฟังความคิดเห็นของนักเรียน หรือกลุ่มครูด้วยกันเอง เป็นต้น แม้ความคิดเห็นต่าง ๆ จะไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ครูได้คิดไว้ ซึ่งสามารถที่จะถกเถียงกันในตอนท้ายได้
เห็นคุณค่าความแตกต่าง ครูควรพัฒนามุมมองในเรื่องการเห็นคุณค่าของแต่ละบุคคล ที่มีความคิด วัฒนธรรม เชื้อชาติ ที่แตกต่างกัน โดยไม่ละทิ้งหรือมองข้ามคุณค่าของกลุ่มคนต่าง ๆ แต่นำส่วนทีดีมาประสานกันเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์และความสงบสุข
ร่วมวิพากษ์และเสนอในกิจกรรมต่าง ๆ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเท่านั้น แต่หมายถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่ครูสามารถเข้ามีส่วนร่วมได้ตามบทบาทหน้าที่ เช่น การแสดงความคิดเห็นในการพัฒนาโรงเรียน การพัฒนาชุมชน การวิพากษ์วิจารณ์และเสนอแนวทางออกให้กับสังคม เป็นต้น เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในสังคม
ประกาศจุดยืนความชอบธรรม แม้ประชาธิปไตยจะเน้นเสียงส่วนใหญ่ แต่ครูไม่ควรที่ตามเสียงส่วนใหญ่ที่ขัดต่อคุณธรรมจริยธรรม หรือละเมิดสิทธิชนของคนบางกลุ่มในสังคม นั่นหมายถึง ครูต้องเป็นผู้ที่ชี้นำทิศที่ถูกต้องเหมาะสมให้แก่กลุ่ม และไม่ยินยอมในการตัดสินใจของกลุ่ม หากเป็นการไม่ยุติธรรมต่อคนบางกลุ่ม
การพัฒนาคนไทยให้มีแนวคิดและวิถีแบบประชาธิปไตย จึงเป็นวิธีหนึ่งในลดสภาพการเป็น “คุณพ่อรู้ดี” ของกลุ่มชนชั้นหรือนักปกครอง และลดปัญหาการเป็น “จำเลยชน” ของคนบางกลุ่มในสังคมที่ต้องปฏิบัติตามแม้ถูกลิดรอนสิทธิ ครูซึ่งเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างคน จึงควรตระหนักและพัฒนาตนเองให้เป็น “ครู-นักประชาธิปไตย” เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้เรียนและสังคม

คุณธรรมของครู
โดย พันโทสวัสดิ์ ทองประสาน
คุณครู เป็นปูชนียบุคคลที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างสูง จะเป็นรองก็แต่คุณพ่อคุณแม่เท่านั้น คนไทยเรามีอัธยาศัยน่ารัก ต่างจากชนชาติอื่นอยู่อย่างหนึ่งคือ เมื่อจะไปสมัครเป็นศิษย์ของท่านผู้ใด ก็ไม่ใช่เพียงมุ่งแต่จะไปถ่ายทอดคัดลอกวิชาความรู้จากครูอาจารย์ เสร็จแล้วก็ตีเสมอ แต่ตั้งใจจริงจะไปมอบตัวเองเป็นลูกเต้าของท่านด้วย ไทยเราจึงนิยมใช้คำเต็มอย่างภาคภูมิว่า "ลูกศิษย์" หมายถึง ยินยอมมอบตัวลงเป็นทั้งลูกทั้งศิษย์ของท่านผู้เป็นครู จากวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยเรา จะเห็นความกตัญญูต่อครูได้เด่นชัด ตั้งแต่พิธีมอบตัวเป็นศิษย์ พ่อแม่จะพาลูกไปฝากฝังมอบกายถวายตัวแก่คุณครูพร้อมเครื่องสักการะ พร้อมทั้งออกปากอนุญาตให้เฆี่ยนตีสั่งสอนได้เหมือนลูก คำว่า "ครู" เราได้นำมาใช้ในภาษาไทยมานานแล้ว และก็ดูเหมือนว่าเรายังไม่มีคำไหนมีความหมายพอที่จะใช้แทนคำว่า ครู ได้ ครูมีอยู่ 3 ชั้นด้วยกัน คือ
1. ครูประจำบ้าน ได้แก่ พ่อ แม่
2. ครูประจำโรงเรียน ได้แก่ ครู อาจารย์ที่สอนศิลปวิทยาแก่ศิษย์
3. ครูประจำโลก ได้แก่ พระพุทธเจ้า
ครูทั้ง 3 ประเภทนี้ กล่าวถึงหน้าที่โดยย่อ ๆ ได้แก่
1. ครูสอนศิลปวิทยา
2. ครูบอกวิชาศีลธรรม
3. ครูแนะนำให้พ้นทุกข์
ครู 3 ระดับนี้ เป็นผู้รับผิดชอบต่อความเป็นไปของชีวิตคน คือ
หากลูกตัว ชั่วโฉด โทษพ่อแม่
หากศิษย์ แส่ชั่วโฉด โทษครูสอน
ประชาราษฎร์ ชั่วโฉด โทษภูธร
เจ้านคร ชั่วโฉด โทษราชครู
สรุปว่า ครูเป็นผู้รับผิดชอบต่อความดี ความเลวของศิษย์ในทิศ 6 พระพุทธเจ้าทรงยกย่องให้ครูเป็นมือขวาของโลก การที่เราเคารพสักการะบูชาครูทั้ง 3 ประเภทนี้ เพราะท่านเหล่านี้มีพระคุณ กล่าวคือ ครูประจำบ้าน คือ พ่อแม่ให้ชีวิต ครูที่โรงเรียนให้ความรู้ ครูของโลกให้ความดี พระพุทธเจ้าตรัสถึงคุณสมบัติของครูที่เป็นปูชนียบุคคลว่า ต้องมีคุณสมบัติของครู 7 ประการอยู่ประจำใจ ได้แก่
1. ครูต้องทำตนให้ศิษย์รัก (ปิโย) ทั้งการแต่งกาย กิริยามารยาท และจิตใจก็เปี่ยมล้นด้วยเมตตากรุณา ยินดีโอบอุ้มช่วยเหลือเอื้อเฟื้อ ยิ้มแย้มแจ่มใส
2. ใจหนัก และแน่นด้วยความรู้ (ครุ) ครูต้องมีทั้งความหนัก ทั้งความแน่น จึงน่าเคารพ
- หนัก คือ มีอัธยาศัยจิตใจหนัก หนักในเหตุผล ไม่โยกโคลงไปตามอารมณ์ ตระหนักในแบบธรรมเนียม ประเพณี ตระหนักในงาน ไม่กลัวภาระหนัก
- แน่น หมายถึง แน่นด้วยความรู้ ความสามารถ
3. เชิดชูคุณธรรม (ภาวนีโย) น่ายกย่อง คุณครูต้องมีชีวิตที่สะอาด สดใส เป็นพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ที่ดีจริง ๆ ทำให้ศิษย์กล้าพูดยกย่องได้ตลอดเวลา และบูชาได้ตลอดกาล
4. พร้อมอบรมพร่ำสอน (วัตตา) คือ ปกครองศิษย์ 3 ประการตามที่คนโบราณสอน ได้แก่ สระน้ำ ต้นยอ กอไผ่
สระน้ำ หมายถึง น้ำเมตตา น้ำใจให้ลูกศิษย์ชุ่มเย็นเข้าใกล้แล้วเย็นใจ เกิดกำลังใจที่จะปฏิบัติตามคำสอนของครู
ต้นยอ หมายถึง ยามที่ศิษย์ประพฤติปฏิบัติตนตามโอวาท ไม่ละเมิดกฏข้อบังคับ หรือระเบียบของโรงเรียนก็ใช้วิธีการสรรเสริญให้ปรากฏแก่หมู่ลูกศิษย์
กอไผ่ ได้แก่ ไม้เรียว คือ ลงโทษเพื่อหลาบจำตามคำสุภาษิตที่ว่า
อันช่างหม้อตีหม้อไม่หวังสาน
ตีเอางานงามไซร้มิให้หนา
เหมือนอาจารย์ตีศิษย์ให้วิทยา
มิใช่ว่าประหารให้ไปอบาย
5. เอื้ออาทรและอดทน (วจนักขโม) ครูต้องใจเย็น อดทนได้ต่อการซักถามไล่เลียง รวมทั้งการโต้แย้งของศิษย์ ไม่ใจน้อย ไม่โกรธง่าย เข้าทำนองที่ว่า มีน้ำใจประชาธิปไตยนั่นเอง
6. รู้จักกลย่อขยาย (คัมภีรัญจะ กถัง กัตตา) อธิบายเรื่องที่ยากให้เข้าใจง่าย ครูที่ลูกศิษย์เคารพนับถือนั้นจะต้องมีความรู้ลึกซึ้งกว้างขวาง และเข้าใจอธิบายเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย และสนุก
7. ไม่ขายตัว และมั่วอบายมุข (โน จัฎฐาเน นิโยชเย) ต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่างของศิษย์ในทางที่ดี ตามที่ผู้รู้กล่าวไว้ว่า อย่าประพฤติตนขี้เกียจสอน อย่าเลิกก่อนเวลา อย่าเมาสุราเป็นนิตย์ อย่าติดบุหรี่ อย่าทะเลาะกัน อย่าเล่นการพนันเป็นนิสัย และอย่าหลงในลูกศิษย์ เมื่อวันครูมาถึงในวาระนี้ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ครูระลึกถึง กระตุ้นเตือนบรรดาครูอาจารย์ให้เห็นความสำคัญของท่านเองในฐานะของครูอาจารย์ โดยหน้าที่จะต้องร่วมเสื่อมร่วมเจริญกับศิษย์ตนตลอดไปศิษย์ดีครูก็พลอยดีไปด้วย ศิษย์เลวครูก็พลอยเสียชื่อด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าศิษย์ดีก็นับว่าเป็นสง่าราศีแก่ครู เชิดชูซึ่งกันและกัน และทำหน้าที่แห่งครูผู้เป็นปูชนียบุคคลของศิษย์ด้วยหน้าที่ 5 ประการอย่างต่อเนื่อง คือ
1. แนะและนำศิษย์อย่างดี
2. ปรานีเรื่องศึกษา
3. ไม่ปิดบังศิลปวิทยา
4. ยกย่องให้ปรากฏ
5. ป้องกันให้หมดซึ่งภัยพิบัติ
ซึ่งศิษย์ก็ต้องถือว่า เป็นหน้าที่ที่ต้องสนองตอบด้วยลักษณะ 5 ประการเช่นเดียวกัน คือ
1. ลุกรับด้วยเคารพ
2. นอบน้อมคอยรับใช้
3. ตั้งใจฟังและเชื่อ
4. เอื้อเฟื้อปรนนิบัติ
5. เคร่งครัดวิชาการ
โดยผลสำเร็จแห่งหน้าที่ดังกล่าวย่อมนำความสุขสวัสดีมาให้แก่ส่วนรวมได้โดยแท้ ทั้งนี้เพราะผลแห่งการสร้างคนอย่างมีคุณภาพด้วยคุณธรรม และความรู้อันดีเยี่ยมนั่นเอง เป็นศรีของครูดังบทนิพนธ์ของพระเดชพระคุณพระธรรมทัศนาธร อดีตเจ้าอาวาสวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร ที่ยืนยันให้ปรากฏไว้ว่า
อันครูดี ศรีของครู ชูด้วยศิษย์
ศิษย์ยิ่งช่วย ชูศรีครู ยิ่งชูศรี
ครูชูศิษย์ เพราะทำกิจ สอนศิษย์ดี
ศิษย์ชูครู ชูเพราะมี ดีต่อครู

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น