ปฏิทินของฉัน

gestbook

เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายให้เหมาะกับที่บ้าน


เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายให้เหมาะกับที่บ้าน...
พูดเรื่องเทคโนโลยีไร้สายในปัจจุบัน หันไปทางไหนก็มีแต่คนพูดถึงค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะกับระบบเครือข่าย ที่แค่หิ้วโน้ตบุ๊กก็สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่ต้องต่อสายแต่อย่างใด เรื่องราวของเน็ตเวิร์กไร้สาย ก็อย่างที่ได้กล่าวกันไปแล้วใน Cover Story ฉบับก่อนๆ เรียกว่าหากใครสนใจใคร่รู้เรื่องระบบเครือข่ายไร้สาย คงจะเข้าใจกันไปพอสมควรแล้วทีนี้ก็มีบางประเด็นที่น่าสนใจ สำหรับคนที่อยากนำเครือข่ายไร้สายไปประยุกต์ใช้งานด้วยตัวเอง ว่าควรต้องรู้อะไรเพิ่มเติมบ้าง โดยเนื้อหาในฉบับนี้ ผมขอนำคุณผู้อ่านเข้าสู่โลกไวร์เลสส์เน็ตเวิร์กกันอีกครั้ง เพื่ออัพเดตเนื้อหา รวมถึงการนำระบบเครือข่ายไร้สายไปใช้งานจริงด้วย
เลือกระบบให้ถูกต้อง
ระบบเครือข่ายไร้สาย หรือที่เห็นกันบ่อยๆ ในชื่อ 802.11 นั้น เป็นหนึ่งในสมาชิกของระบบเครือข่ายตามมาตรฐานของ IEEE ซึ่ง 802.11 คือมาตรฐานของเครือข่ายไร้สาย หรือจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Wireless Ethernet ก็ได้ เพราะจะทำงานในรูปแบบคล้ายๆ กัน สำหรับระบบ 802.11 มีการแบ่งใช้งานอยู่ 3 มาตรฐานด้วยกัน นั่นคือมาตรฐาน a b และ g ซึ่งมาตรฐาน b กับ g นั้น จะทำงานในย่านความถี่ ISM Band ที่ 2.4 กิกะเฮิรตซ์ ส่วนมาตรฐาน a จะทำงานในย่านความถี่ ISM band 5.7 กิกะเฮิรตซ์ โดย a กับ g สามารถทำงานร่วมกันได้ ส่วน g ถือเป็นวิวัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของ b เพื่อเพิ่มความสามารถในการถ่ายโอนข้อมูลให้สูงกว่าเดิม ISM band คืออะไร? ISM ย่อมาจาก Industrial Sciences Medicine หรือคลื่นความถี่สาธารณะสำหรับอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และการแพทย์ โดยย่านความถี่สำหรับคลื่นวิทยุในโลกนี้ จัดได้ว่ามีการควบคุมการเป็นเจ้าของหรือใช้งาน ซึ่งงานวิจัยสำหรับการขอคลื่นความถี่มาใช้งานทำได้ค่อนข้างยาก จึงมีการตั้ง ISM band นี้ขึ้นมาสำหรับการวิจัยโดยเฉพาะ โดยแบ่งเป็นสามย่านความถี่ คือ 900 เมกะเฮิรตซ์, 2.4 กิกะเฮิรตซ์ และ 5.7 กิกะเฮิรตซ์ สำหรับ Wireless Network 802.11 จะใช้สองย่านความถี่หลัง แต่เนื่องจากความถี่ 5.7 กิกะเฮิรตซ์ นั้น มีการยอมให้ใช้ได้เฉพาะบางประเทศเท่านั้น (ส่วนที่เหลืออาจจะถูกจัดสรรไปให้กับองค์กรต่างๆ ก่อนจะมีการประกาศ ISM Band ออกมา) ทำให้มาตรฐาน a ไม่สามารถใช้งานได้ในประเทศบางประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย เราจึงใช้งานได้เฉพาะ 802.11b และ g เท่านั้น (การพัฒนามาตรฐาน g ก็มาจากเหตุผลนี้เช่นกัน)
มาตรฐาน b และ g ต่างกันอย่างไร ?
ในที่นี้ขอพูดเพียงแค่มาตรฐาน b และ g เท่านั้น ส่วน a คงต้องตัดออกไป เพราะยังไงก็ไม่สามารถจะนำมาจำหน่ายอย่างถูกกฏหมายในบ้านเราได้ ซึ่งรายละเอียดของความแตกต่างระหว่างมาตรฐาน b และ g นั้น จะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง และลงรายละเอียดด้านเทคนิคค่อนข้างมาก ทั้งในเรื่องของการโมดูเลชันที่แตกต่างกัน การเข้ารหัส รวมทั้งการคอมเพรสชัน แต่สรุปโดยรวมก็คือ มาตรฐาน b กับ g จะแตกต่างกันในเรื่องของแบนวิดธ์ในการส่งข้อมูลเป็นหลัก โดยที่มาตรฐาน b ทำได้เพียง 11 เมกะบิตต่อวินาทีเท่านั้น ส่วน g สามารถทำได้ถึง 54 เมกะบิต (ซึ่งอันที่จริงความเร็ว 11 เมกะบิต และ 54 เมกะบิตที่ว่า จะมีอัตราการส่งข้อมูลได้เพียง 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เท่ากับว่า 11 เมกะบิต จะเหลือเพียงประมาณ 6 เมกะบิต ส่วน 54 เมกะบิต เหลือเพียง ประมาณ 30 เมกะบิต ส่วนที่เหลือจะเป็นการโอเวอร์เฮด เพื่อทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการส่งข้อมูลน้อยที่สุด) นอกเหนือจากเรื่องของความถี่แล้ว ยังมีผลในเรื่องของขอบเขตการใช้งานด้วย เช่น มาตรฐาน b จะมีรัศมีการให้บริการอยู่ที่ 100 ฟุต แต่ถ้าเป็น g จะลดลงมาอีก ซึ่งหมายความว่า g จะมีขอบเขตการให้บริการที่น้อยกว่า สาเหตุก็เพราะต้องการให้ข้อมูลส่งไปถึงปลายทางได้อย่างไม่มีข้อผิดพลาด หรือเกิดขึ้นน้อยที่สุด เนื่องจากว่ายิ่งไกลเท่าไหร่ อัตราการรบกวนของคลื่นวิทยุก็จะมีสูงขึ้นเท่านั้น ดังกล่าว หากใช้มาตรฐาน g ในระยะทางเท่ากับ b การรับส่งข้อมูลก็อาจเกิดความผิดพลาดได้มากกว่า เนื่องจากความหนาแน่นของข้อมูลของมาตรฐาน g นั้น มีมากกว่า b หลายเท่า
ย่านความถี่ ปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม
ปัญหาอย่างหนึ่งสำหรับเครือข่ายไร้สายคือ การรบกวนกันของคลื่นสัญญาณ โดยเฉพาะย่านความถี่ 2.4 กิกะเฮิรตซ์นั้น มีอุปกรณ์มากมายที่ใช้งานอยู่ ไม่ว่าจะเป็นตู้ไมโครเวฟ โทรศัพท์บ้านไร้สาย และอุปกรณ์ Bluetooth ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ หรือว่าพีดีเอ ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมดที่กล่าว ต่างก็สามารถรบกวนการส่งสัญญาณของเครือข่ายไร้สายได้ แถมที่หนักหนาสาหัสก็คือ หากมีการใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ใกล้เครือข่ายไร้สายมากๆ เครือข่ายไร้สายนั้นๆ ก็อาจจะใช้งานไม่ได้ทีเดียว แล้วเราจะทำอย่างไรดี? อันที่จริงจากการพัฒนามาโดยตลอดทำให้ปัญหาเหล่านี้ลดน้อยลง เช่น โมโครเวฟก็มีการซิลด์ที่ดีขึ้น มีการรั่วไหลของคลื่นไมโครเวฟน้อยลง จึงไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใดสำหรับระบบเครือข่ายไร้สาย แต่ที่ดูจะเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบันก็คือ คลื่นบลูทูธ และโทรศัพท์บ้านไร้สายในย่านความถี่ 2.4 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งทางแก้ที่ดีที่สุดในตอนนี้คือ การงดใช้อุปกรณ์ประเภทนี้ในขอบเขตการใช้งานเครือข่ายไร้สาย อย่างไรก็ตาม ยังโชคดีอยู่บ้างที่ระบบจะกลับมาทำงานได้อีกครั้ง หลังจากที่ปิดหรืองดใช้อุปกรณ์ดังกล่าวไปแล้ว ไม่เพียงแค่อุปกรณต่างระบบเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการใช้งานต่างมาตรฐานกันด้วย เช่น หากต้องการนำมาตรฐาน g ไปใช้กับ b ประสิทธิภาพก็จะเหลือเพียง b เท่านั้น ดังนั้น การใช้งานจึงควรจะใช้ร่วมกับมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้การใช้งานมีประสิทธิภาพสูงสุด
การวางระบบเครือข่ายไร้สาย
ทีนี้มาดูกันครับว่า เราจะวางระบบไร้สายกันยังไง เพราะระบบไร้สาย จะแตกต่างจากระบบที่ใช้สายในบางส่วน อย่างที่เรารู้กันว่า เน็ตเวิร์กตามบ้านสามารถเชี่อมต่อกันระหว่างเครื่อง หรือจะใช้ฮับ (Hub) เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อ ซึ่งในระบบไร้สายเองก็เช่นกัน ที่มีการเชื่อมต่ออยู่สองแบบ นั่นคือแบบที่เรียกว่า Ad Hoc Network และ อีกแบบเรียกว่า Infrastructure Network โดยทั้งสองแบบนี้ จะแตกต่างกันในเรื่องของการทำงานและโครงสร้างในการรับส่งข้อมูล สำหรับ Ad hoc network นั้น เปรียบเสมือนการเชื่อมต่อระหว่างการ์ด Wireless เข้าหากันโดยตรง เรียกว่าเป็นการเชื่อมต่อแบบ Direct ก็ได้ ส่วน Infrastructure จะเป็นการเชื่อมต่อผ่านทางแอ็กเซสพอยนต์หรือจุดให้บริการในการเชื่อมต่อ ที่เป็นเหมือนฮับหรือสวิตช์นั่นเอง ซึ่งแอ็กเซสพอยนต์นี้ สามารถต่อเข้ากับระบบเน็ตเวิร์กที่มีอยู่เดิมได้ และสะดวกสำหรับการเชื่อมต่อระหว่างเน็ตเวิร์กเดิมกับเครือข่ายไร้สายอันใหม่ สำหรับการใช้งานในวงเน็ตเวิร์กภายในบ้าน หากคุณมีระบบเน็ตเวิร์กอยู่แล้ว ก็สามารถติดตั้ง Access Point เข้ากับระบบเครือข่ายได้เลย โดยเชื่อมต่อ Access Point เหมือนกับอุปกรณ์เน็ตเวิร์กตัวหนึ่ง เพียงเท่านี้ ก็สามารถให้บริการอุปกรณ์ไวร์เลสส์อื่นๆ ได้แล้ว แต่หลังจากการติดตั้ง Access Point เราต้องระวังอยู่อย่างหนึ่ง เพราะโดยปกติแล้ว แอ็กเซสพอยนต์ที่มาจากโรงงานจะยังไม่มีการเซตค่าความปลอดภัยให้ ดังนั้นใครก็ตามที่อยู่ในรัศมีทำการของ Access Point ก็สามารถจะใช้บริการได้ทันที ทางที่ดีจึงควรจะเลือกเซตค่าการป้องกันให้กับแอ็กเซสพอยนต์เสียก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ ก็จะมีซอฟต์แวร์แถมมาพร้อมกับแอ็กเซสพอยนต์ด้วย เพื่อการใช้งานที่ปลอดภัยมากขึ้น การติดตั้ง Access Point มีข้อควรระวังคือ เรื่องของการกระจายสัญญาณ เพราะการรับส่งข้อมูลผ่านทางคลื่นวิทยุนั้น ย่อมจะมีข้อจำกัดในเรื่องของระยะทางและสิ่งกีดขวาง ที่จะทำให้คลื่นวิทยุส่งไปไม่ถึง โดยเฉพาะการส่งข้อมูลระหว่างชั้น เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนหรืออาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ มักจะมีการฝังวัสดุที่เป็นเหล็กเอาไว้ภายใน ซึ่งสามารถดูดซับคลื่นวิทยุเอาไว้ ทำให้เคลื่นวิทยุไม่สามารถส่งผ่านตัวกลางเหล่านี้ได้อย่างสะดวก เรียกว่าหากผนังห้องมีการฝังเหล็กเส้นเอาไว้จำนวนมาก คลื่นวิทยุก็จะไม่สามารถส่งผ่านผนังไปได้ ปัญหาที่พบบ่อยๆ ก็คือ การติดตั้งแอ็กเซสพอยนต์ที่อยู่คนละชั้นกับเครื่องที่ต้องการใช้งานแล้วเกิดปัญหา เพราะด้วยขนาดของเพดานที่กั้นกลางระหว่างชั้น จะทำให้สัญญาณส่งไปไม่ถึงนั่นเอง ในกรณีที่คุณติดตั้ง Wireless Network ภายในบ้าน มีความสะดวกอยู่อย่างหนึ่งคือ คุณไม่จำเป็นต้องเดินสายไปมาระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ เพียงแต่ติดตั้งแอ็กเซสพอยนต์และเสียบปลั๊กเพื่อใช้งาน ก็สามารถจะเชื่อมต่อเข้าหากันได้ทันที โดยอาจจะกำหนดหมายเลขไอพีให้กับคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องที่อยู่ในระบบ โดยไม่จำเป็นต้องต่อสายเน็ตเวิร์กเข้ากับแอ็กเซสพอยนต์แต่อย่างใด ซึ่งแอ็กเซสพอยนต์จะเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ให้เอง ข้อควรระวังก็คือ เรื่องของสัญญาณที่ต้องครอบคลุมทุกจุดที่เราต้องใช้งาน
เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
ในปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีบทบาทอย่างมากที่จะช่วยให้คุณก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์ได้ฉับไวมากกว่าเดิม โดยเฉพาะ ADSL ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งสำหรับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตตามบ้าน โดยเราสามารถแชร์การใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้กับคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่องผ่านทางไวร์เลสส์ได้ สิ่งที่จำเป็นก็คือ การเลือกใช้โมเด็มแบบเราเตอร์ที่สามารถต่อกับระบบเครือข่ายได้เลย โดยไม่ต้องผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ก่อน แล้วนำแอ็กเซสพ้อยนต์ ไปต่อกับโมเด็มเราเตอร์ เพียงเท่านี้เราก็สามารถใช้บริการไวร์เลสส์อินเทอร์เน็ตภายในบ้านได้แล้ว โดยที่คุณไม่ต้องเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่หากเราไม่มีโมเด็มแบบเราเตอร์ งานนี้ก็ต้องอาศัยพึ่งพาคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นแม่ข่ายในการต่อใช้งาน และให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายกันละครับ ซึ่งวิธีการก็คือ ต่อแอ็กเซสพ้อยนต์เข้ากับคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมกับโมเด็มผ่านทางช่องทางอีเธอร์เน็ต ซึ่งก็สามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายได้เช่นเดียวกัน แต่จำเป็นต้องเปิดคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นตลอดเวลายามที่ใช้อินเทอร์เน็ตไร้สาย
ราคาและค่าใช้จ่าย
ข้อดีของการใช้งานเครือข่ายแบบไร้สายก็คือ คุณไม่จำเป็นต้องเดินสายเคเบิลไปมาระหว่างห้อง เพียงแค่มีจุดบริการของแอ็กเซสพอยนต์เท่านั้นก็ใช้งานได้แล้ว ซึ่งราคาโดยประมาณของแอ็กเซสพอยนต์ จะอยู่ที่ราวๆ 4-5000 บาท ส่วนราคาของการ์ดเน็ตเวิร์กนั้น โดยรวมก็ไม่ได้สูงมากนัก สำหรับเครือข่ายแบบ b จะอยู่ที่ประมาณ 1000 ถึง 2000 บาท ส่วนแบบ g นั้นจะสูงขึ้นมาหน่อย คือราวๆ 1500 ถึง 3000 บาท และการ์ดเน็ตเวิร์กก็มีขายทั้งที่เป็นแบบ PCI และ PCMCIA การ์ด เราจึงเลือกซื้อมาติดตั้งกับคอมพิวเตอร์ได้อย่างสะดวก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเดสก์ทอปหรือว่าโน้ตบุ๊ก สำหรับโน้ตบุ๊กส่วนใหญ๋ในปัจจุบัน จะยังคงติดการ์ดไวร์เลสส์มาตรฐาน b มาให้เป็นส่วนมาก แต่สำหรับเครื่องรุ่นใหม่ๆ ที่เพิ่งออกมา อาจจะติดแบบ b หรือ g มาให้ ซึ่งก็นับว่าสะดวกมาก เพราะคุณไม่จำเป็นต้องอัพเกรดการ์ดเน็ตเวิร์กเพิ่มเติมในภายหลัง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น