ปฏิทินของฉัน

gestbook

อินเตอร์เน็ตกับการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อปวงชน

จากคำกล่าวของ โรเบิร์ต ไรช์ (2534) เกี่ยวกับภารกิจของชาติ ว่า “ เรากำลังดำรงชีวิตฝ่ากระแสคลื่นของความเปลี่ยนแปลงซึ่งจะก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจและการเมืองในรูปแบบใหม่ในศตวรรษที่กำลังจะมาถึง ทรัพย์สินในขั้นปฐมภูมิของแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับทักษะและไหวพริบและพลเมืองในชาติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ภารกิจพื้นฐานทางด้านการเมืองของทุกชาติก็จะต้องรับมือกับอิทธิพลต่าง ๆ ของเศรษฐกิจโลกที่จะดึงสังคมให้เสียศูนย์โดยการเข้าไปกัดกร่อนทำลายสายใยซึ่งโยงยึดพลเมืองของชาติเข้าไว้ด้วยกันส่งผลให้ผู้ที่มีทักษะและไหวพริบปฏิภาณมากที่สุดเป็นผู้ที่มั่งคั่งยิ่งไปกว่าเดิม ขณะที่ประชากรผู้ด้อยในทักษะต้องเผชิญกับสภาวะมาตรฐานการครองชีพที่เสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ ” (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ,2543:27) ทำให้เกิดมุมมองว่าประเทศที่ปรับเปลี่ยนทักษะและไหวพริบของพลเมืองในชาติทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางวิทยาการ ย่อมสร้างความมั่งคั่งและความร่ำรวย กว่าประเทศที่ด้อยประสิทธิภาพต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เมื่อเป็นเช่นนี้ประเทศต่าง ๆ จึงให้ความสำคัญที่ขะพัฒนาประเทศเพื่อให้มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการเข้าสู่เวทีการแข่งขันเสรีและคงความได้เปรียบทางด้านการแข่งขันเพื่อเพิ่มศักยภาพในการต่อรอง . ประเทศไทย จัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้เล็งเห็นความสำคัญที่จะใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือที่จะพัฒนาประชากรในประเทศ ดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช “ การพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญยิ่งขึ้นไปนั้น ย่อมต้องพัฒนาบุคคลก่อน เพราะถ้าบุคคลอันเป็นองค์ประกอบของส่วนรวม ไม่ได้รับการพัฒนาแล้ว ส่วนรวมจะเจริญและมั่นคงได้ยาก การที่บุคคลจะพัฒนาได้ก็ด้วยปัจจัยประการเดียว คือ การศึกษา การศึกษานั้นแบ่งเป็นสองส่วน คือ การศึกษาด้านวิชาการส่วนหนึ่ง กับการอบรมบ่มนิสัยให้เป็นผู้มีจิตใจใฝ่ดีใฝ่เจริญมีปกติละอายชั่วกลัวบาปส่วนหนึ่ง การพัฒนาบุคคลจะต้องพัฒนาให้ครบถ้วนทั้งสองส่วน เพื่อให้บุคคลได้มีความรู้ไว้ใช้ประกอบการและมีความดีไว้เกื้อหนุนการประพฤติปฏิบัติทุกอย่างให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควร และอำนวยประโยชน์ที่พึงประสงค์ ” ( วิชัย วงษ์ใหญ่ , 2543) และได้ดำเนินการปฏิรูปการศึกษา โดยออกเป็นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เริ่มประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2542 เป็นต้นมา ทำให้ระบบการศึกษา แนวการจัดการศึกษา และ การบริหารการจัดการศึกษา เป็นแนวทางการปฏิรูปใหม่ ซึ่ง พ.ร.บ. การศึกษา พ.ศ. 2542 ได้ให้ความสำคัญต่อการศึกษาตลอดชีวิต โดยกำหนดให้จัดการศึกษาให้ยึดหลัก มาตรา 8 การจัดการศึกษาให้ยึดหลักดังนี้
(1) เป็นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน(2) ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา(3) การพัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและ ได้กล่าวถึงรูปแบบในการจัดการศึกษา 3 รูปแบบไว้ใน มาตรา 15 คือ การศึกษาในระบบ การศึกษา นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยการที่จะพัฒนาประชาชนในชาติโดยใช้การศึกษาเป็นกลไกลในการขับเคลื่อนนั้นจะใช้เพียงการศึกษารูปแบบใด รูปแบบหนึ่ง อาจเกิดข้อจำกัดในการเรียนรู้หรือการศึกษาของประชาชนได้ ควรมีการผสมผสานกันระหว่าง 3 รูปแบบ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและเพิ่มโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกเข้าศึกษาตามความพร้อมและตามศักยภาพของตนเอง ดังความหมายของการศึกษาตลอดชีวิต พรบ.การศึกษา พ.ศ. 2542 มาตรา 4 กำหนดว่า การศึกษาตลอดชีวิต หมายความว่า การศึกษาที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต. และจากมาตรา 22 ที่ยึดหลักการเกี่ยวกับผู้เรียนว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ.วิสัยทัศน์ด้านการศึกษาไทยที่กำหนดใน แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540 – 2544) ในส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาตลอดชีวิต พอสรุปได้ดังนี้ (รุ่ง แก้วแดง ,2543 : 46- 58) คือ 1. พัฒนาคนไทยให้มีความรู้ความสามารถทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกยุคโลกาภิวัตน์ เช่น ภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์ เห็นความสำคัญของวิทยาการสมัยใหม่ควบคู่กับภูมิปัญญาชาวบ้าน 2. วิสัยทัศน์ที่พึงประสงค์ คือ ให้การศึกษาเป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้เรียนรู้จักการเรียนรู้ รู้วิธีแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง และ รักที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตจากวิสัยทัศน์ของการศึกษาตามแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ดังกล่าว ประเทศไทย จึงให้ความสำคัญที่ต้องนำเทคโนโลยีส่งเสริมในด้านการศึกษาเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการพัฒนาทางด้านความรู้ ความสามารถทั้งด้านวิชาการและการปฏิบัติ และกำหนดในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวด 9 มาตรา 66 คือ ผู้เรียนมีสิทธิได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในโอกาสแรกที่ทำได้ เพื่อให้มีความรู้และทักษะเพียงพอที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต. เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในอดีตที่หน่วยงานทางการศึกษานิยมกันมากที่สุด ได้แก่ วิทยุ โทรทัศน์ และในปัจจุบัน เครื่องคอมพิวเตอร์ ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมาก และได้มีการนำมาเชื่อมโยงกันเพื่อให้เกิดการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว การเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกันนี้ เรียกว่า เครือข่าย (Network) และในบรรดาเครือข่ายต่าง ๆ ของโลกกล่าวได้ว่า เครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet) นับว่าเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดเนื่องจากมีคอมพิวเตอร์มากว่า 50 ล้านเครื่องเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายนี้ ได้มีการประมาณว่าจะมีการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์มากกว่า 300 ล้านเครื่องทั่วโลกในปี ค.ศ. 2002 ( กรภัทร์ สุทธิดารา , ไม่ระบุปีที่พิมพ์ : 134 ) และได้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศระบบ อินเตอร์เน็ต มาช่วยในการสร้างความรู้เชื่อมโยงแหล่งความรู้ เพื่อลดช่วงและระยะเวลาในการเรียนรู้ และส่งเสริมการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองของผู้เรียนให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต.ดังนั้น อินเตอร์เน็ต (Internet) ก็คือ เครือข่ายคอมพิวเตอร์รูปแบบหนึ่ง ที่เกิดจากการร่วมมือระหว่างองค์กร และหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลกที่นำเครือข่ายคอมพิวเตอร์ย่อยของตนมาเชื่อมต่อกันปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศระบบอินเตอร์เน็ตมาช่วยในการสร้างความรู้เชื่อมโยงแหล่งความรู้เพื่อลดช่วงและระยะเวลาในการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ สืบค้นหาความรู้ต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง จากเครือข่ายของความรู้ คลังความรู้ที่ถูกสร้างและจัดเก็บบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ข้อมูลที่อยู่ในอินเตอร์เน็ตในขณะนี้มีปริมาณมากที่สุดในบรรดาสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ซึ่งรวมกันอาจยังไม่มากมายเท่ากับข้อมูลที่บรรจุอยู่ในอินเตอร์เน็ต เนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลระดับโลกที่มีราคาถูกที่สุด (กรภัทร์ สุทธิดารา ,ไม่ระบุปีที่พิมพ์ : 137) จากที่กล่าวมา บทบาทของคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารจึงเข้ามามีความสำคัญต่อการสร้างความรู้อย่างมาก ฉะนั้นบทบาทในการเรียนรู้ในอนาคตคงจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับระบบอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้มากขึ้น โดยใช้อินเตอร์เน็ตทำให้เกิดการเชื่อมโยงถึงกัน ดังนั้น กระผมจึงคิดว่า สื่อการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็น บทเรียนต่าง ๆ หนังสือทั้งวิชาการ บันเทิงคดี และ สารคดี ควรต้องมีการจัดทำในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้เปิดโดยผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือ สามารถให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองทางคอมพิวเตอร์โดยผ่านทางอินเตอร์เน็ต ดังขอเสนอรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตที่สอดคล้องกับระบบอินเตอร์เน็ต 4 รูปแบบดังนี้ คือ1. E – Learning ( Electronics – Learning )2. E – Book ( Electronics – Book )3. E – Library Centre ( Electronics – Library Centre )4. E – Teacher ( Electronics – Teacher )

E – Learning หมายถึง การเรียนรู้โดยผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ วิทยุ โทรทัศน์ เครือข่ายสัญญาณผ่านดาวเทียม เครือข่ายคอมพิวเตอร์ผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งผู้เรียนสามรถศึกษา ค้นคว้าหาความรู้ได้ด้วยตนเอง ตามเนื้อหาที่ต้องการและสนใจ เช่น หลักสูตรการเรียนการสอนวิชาสามัญ และวิชาชีพ ความรู้ทั่วไปทั้งทางด้านสารคดี และ บันเทิงคดี กิจกรรมการเรียนการสอนที่หน่วยงานทางการศึกษาที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ได้จัดกิจกรรมผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่โครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของกรมสามัญศึกษา กรมการศึกษานอกโรงเรียน , มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือ โครงการการเรียนการสอนแบบปฏิสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต.

E – Bookหมายถึง การเก็บเนื้อหาความรู้ต่าง ๆ อาทิเช่น เนื้อหาทางวิชาการ สารคดี และบันเทิงคดี ในรูปแบบข้อความอิเล็กทรอนิกส์ อยู่บนเว็บเพ็จ โดยผู้เรียนสามารถเปิดศึกษาจากคอมพิวเตอร์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หรือ บันทึกลงบนแผ่นซีดีรอม ซึ่งเปิดศึกษาโดยใช้เครื่องเล่นซีดีรอมหรือ เครื่องคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันนี้หนังสือประเภทต่างได้มีการผลิตบันทึกเนื้อหาลงบนแผ่นซีดี ง่ายต่อการจัดเก็บรักษาและสะดวกต่อการพกพาที่จะนำไปศึกษานอกสถานที่ E – Library Centre หมายถึง ห้องสมุดกลางอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดเก็บเฉพาะเอกสารสิ่งพิมพ์ในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น เช่น เทปคาสเซ็ต ม้วนวีดีโอ แผ่นซีดี โดยให้ผู้ที่เป็นสมาชิกห้องสมุด หรือ ผู้สนใจสามารถศึกษาสาระเนื้อหาหาทั้งวิชาการ สารคดีและบันเทิงคคี โดยนำมาเปิดศึกษาจากเครื่องเล่นซีดีรอมหรือ เครื่องคอมพิวเตอร์ รวมทั้งศึกษาจากเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ขณะนี้ยังไม่มีสถานที่เฉพาะส่วนมากจะจัดอยู่ในบางมุมของห้องสมุดมหาวิทยาลัย. E – TEACHERหมายถึง การใช้ Web – based Course ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นสื่อดำเนินการจัดกระบวนการเรียนการสอนพร้อมทั้งประเมินผลการเรียนรู้ได้ทันที โดยเริ่มจากการศึกษาหาความรู้ในเนื้อหาที่อยู่บนเว็บไซค์ การถาม- ตอบทางระบบกระดานถาม – ตอบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งทำแบบทดสอบพร้อมแสดงผลประเมินผลของเนื้อหาทันที่เมื่อทำแบบทดสอบเสร็จตามเวลาที่กำหนด ซึ่งขณะนี้ มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้จัดโครงการการเรียนการสอนแบบปฏิสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ชุดภาษาอังกฤษเพื่อพัฒนาอาชีพ โดยครูผู้สอนเป็นโปรแกรมบทเรียนทางอินเตอร์เน็ต รวมทั้งการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทอื่น ๆ ที่ใช้บันทึกเนื้อหา และวิธีการเรียนการสอน เช่น เทปคาสเซ็ต , เทปวิดีโอ และ แผ่นซีดีรอม เช่น โปรแกรมการเรียนการสอนในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์จากเทปวิดีโอ หรือแผ่นซีดีรอม , โปรแกรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของ Follow me เป็นต้นโดยสรุปแล้ว นับแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา วิถีของการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของสังคมเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีการแข่งขันกันอย่างเสรีในเวทีโลก ทำให้นานาประเทศต้องเตรียมความพร้อมต่อการเข้าสู่ยุคแห่งโลกาภิวัฒน์ ที่มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้ได้เปรียบต่อสภาวะการแข่งขันกันอย่างเสรีในทุกด้าน ประเทศไทยจึงเตรียมความพร้อมประชาชนให้มีสามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและซับซ้อนได้โดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประชาชนจึงได้กำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ( พ.ศ. 2540 – 2544 ) และ แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ที่เน้นในเรื่อง การพัฒนาคน รวมทั้งปฏิรูประบบการศึกษาโดยออกกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 การใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งในมาตราของ พระราชบัญญัติดังกล่าวที่จะพัฒนาปวงชนในประเทศให้มีความรู้และทักษะเพียงพอที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยเฉพาะในด้านการใช้เครือข่ายทางอินเตอร์เน็ตซึ่งเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศที่มาช่วยเสริมสร้างความรู้เชื่อมโยงแหล่งความรู้เพื่อลดช่วงและระยะเวลาในการเรียนรู้ รวมทั้งส่งเสริมวิถีการเรียนรู้ของปวงชนให้เกิดความต่อเนื่องตลอดชีวิตด้วยตัวของเขาเอง ตามความพร้อมและความต้องการต่อการดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข

ที่มา http://www.sema.go.th/node/485

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น