ปฏิทินของฉัน

gestbook

ศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือ ชนเผ่าพื้นเมือง

ชนเผ่าพื้นเมืองภาคเหนือ

ชนเผ่ากะเหรี่ยง
ประวัติความเป็นมา

กะเหรี่ยงเป็นชนเผ่าที่จัดได้ว่ามีหลายเผ่าพันธุ์ หลายภาษา มีการนับถือศาสนาที่ต่างกัน แต่กะเหรี่ยงดั้งเดิมจะนับถือผี เชื่อเรื่องต้นไม้ป่าใหญ่ ภายหลังหันมานับถือพุทธ คริสต์ เป็นต้น กะเหรี่ยง มีถิ่นฐานตั้งอยู่ที่ประเทศพม่า แต่หลังจากถูกรุกรานจากสงคราม จึงมีกะเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ประเทศไทย กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย กะเหรี่ยงสะกอ หรือที่เรียกนามตัวเองว่า ปากะญอ หมายถึงคน หรือมนุษย์นั้นเอง กะเหรี่ยงสะกอเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง โดยมีมิชชันนารีเป็นผู้คิดค้นดัดแปลงมาจากตัวหนังสือพม่า ผสมภาษาโรมัน กลุ่มนี้หันมานับถือศาสนาคริสต์เป็นส่วนใหญ่ กะเหรี่ยงโปร์นั้นเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเคร่งครัดในประเพณี พบมากที่ อำเภอ แม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภอ อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และแถบตะวันตกของประเทศไทย คือ กะเหรี่ยงบเว พบที่ อำเภอ ขุนยวม แม่ฮ่องสอน ส่วนปะโอ หรือตองสูก็มีอยู่บ้าง แต่พบน้อยมากในประเทศไทย ชนเผ่า "ปกากะญอ" เป็นชนเผ่าที่บอกกล่าวถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมานับร้อยนับพันเรื่อง เรียงร้อยเก็บไว้ในเเนวของนิทาน อาจจะไม่ใช่หลักฐานที่เเน่ชัด เเต่ก็พยายามที่จะเล่าสืบทอดให้ลูกหลานได้รู้ ถึงความเป็นมาของเผ่าพันธุ์ และวัฒนธรรมของตัวเอง เล่ากันตั้งแต่สมัยที่พระเจ้าสร้างโลก พระองค์ได้สร้างมนุษย์ คู่แรก คือ อดัม กับเอวา ทั้งสองคนได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสวน (เอเดน) ที่พระองค์ได้สร้างไว้ ทั้งสองได้ทำ ผิดกฎ ของสวรรค์ จึงถูกเนรเทศลงมาใช้กรรมอยู่ในโลกจนกระทั่งมีลูกหลานสืบเชื้อสายมาจนถึงทุกวันนี้

ชนเผ่าอาข่า
ตำนานชนเผ่าอาข่า
ตามตำนานการเล่าขานมาของชนเผ่าอ่าข่า ปากต่อปากคนต่อคน มายาวนานกว่า 60 ชั่วอายุคน เพื่อเป็นการสืบหาต้นตระกุลว่าเป็นใคร มาจากไหน ซึ่งชนเผ่าอ่าข่าเรียกว่า จึ เล่าขานกันว่า อู่มะ , อู่ว้อง , ว้องยอก , ยอกยือ , ยือโท , โทมา , มายอ , ย่อแน่ , แน่แป , แปซุ้ม , ซุ้มมีโอ ฯลฯ อ่าข่ามีความเชื่อว่าก่อนมาถึงซุ้มมีโอ นั้นเป็นทุกสิ่งที่ปรากฏในจักรวาล เช่น ลม ฟ้า อากาศ ฯลฯ ทุกสิ่งพูดได้ และหลังจากซุ้มมีโอก็มีสองอย่างคือผีและคน ซึ่งมีแม่เป็นคนเดียว เชื่อว่ามนุษย์เรามีหน้าอกกว้าง 7 ศอก เกิดออกมาพูดได้เดินได้ และมีมนุษย์คนหนึ่งที่มีภรรยาท้องแก่จวนจะคลอด ผู้เป็นสามีได้ไปหาไม้เพื่อมาทำเป็นครกกระเดื่อง ระหว่างที่ไปนั้นภรรยาได้คลอดลูกชายออกมา เมื่อคลอดออกมาลูกจึงถามแม่ว่าพ่อไปไหน แม่จึงตอบไปว่าไปเอาครกกระเดื่องในป่า ลูกจึงเดินทางไปตามหาพ่อในป่า พอไปถึงก็เจอพ่อกำลังโค่นต้นไม้ขนาดใหญ่ และไม้ล้มไปทับลูกชาย กิ่งไม้แทงบริเวณหัวไหล่ ลูกจึงตะโกนบอกพ่อว่าหนามแทงที่หัวไหล่ พ่อจึงใช้ขวานฟันเอากิ่งไม้ที่หัวไหลออก ทำให้มนุษย์เราตัวเล็กลงตั้งแต่บัดนั้นมา เพราะอุบัติเหตุถูกต้นไม้ทับ หลังซุ้มมีโอ , โอ โทเล , โท่เล จุม , จุมมอ แย , มอแย จา , จาทื่อสี่ , ที่สี่ ลี้ , ลี้ภู แบ , ภูแบ อู , อูโย ย่า , โยย่า ช่อ , ช่อมอ โอ๊ะ , มอโอ๊ะ เจ่ , เจ่ เท่อ เพอะ , เท่อ เพอะ ม้อ , เท่อเพอะม้อถือว่าเป็นอ่าข่าคนแรก ส่วน เจ่ เท่อ เพอะ คือเป็นแม่รวมของผีและคน และเป็นแหล่งเกิดศาสนาต่างๆบนโลก ซึ่งอ่าข่าเรียกว่า อะมา มาตะ ซึ่งแยกคำได้ดังนี้ อะมา แปลว่าแม่ มาตะ แปลว่าร่วมกัน ความหมายคือ แม่ร่วมของคนและผี มีลักษณะข้างหลังมีนม 9 เต้า เอาไว้สำหรับผี ด้านหน้าอกมี 2 เต้าสำหรับมนุษย์ มนุษย์เราจึงมีเพียงแค่สองเต้านมเท่านั้น ช่วงที่ผีและคนอยู่ในครอบครัวเดียวกัน ให้ผีทำงานกลางคืน แล้วให้มนุษย์นอน กลางวันมนุษย์ทำงาน ให้ผีนอน เสือกับควายอยู่ด้วยกัน นกอินทรีย์กับไก่อยู่ด้วยกัน ดำเนินชีวิตอย่างนี้มาตลอด

ชนเผ่าปะหล่อง
ประวัติความเป็นมา
ปะหล่อง เป็นชนเผ่าที่อพยพจากเมียนมาร์เข้าสู่ไทย เมื่อประมาณปี พ.ศ.2527 เรียกตัวเองว่า "ดาละอั้ง" คำว่า ปะหล่องเป็นภาษาไทยใหญ่ ซึ่งใช้เรียกชนกลุ่มนี้นอกจากนี้ยังมีคำเรียกที่แตกต่างกันออกไปอีก เช่น ชาวเมียนมาร์เรียกปะหล่องว่า "ปะลวง" และไทยใหญ่บางกลุ่มก็ใช้คำว่า "คุนลอย" ซึ่งมีความหมายว่าคนดอย หรือคนภูเขาแทนคำว่า "ปะหล่อง" เอกสารทางประวัติศาสตร์หลายฉบับกล่าวถึงชนชาวปะหล่องว่า เป็นพลเมืองกลุ่มหนึ่งภายใต้การปกครองของนครรัฐแสนหวี หนึ่งในเก้านครรัฐของอาณาจักไตมาว ซึ่งเป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่ของชนไต ครั้งพุทธศักราช 1200 โดยมีศูนย์กลางของอาณาจักรในขณะนั้นอยู่บริเวณเมืองแสนหวีในรัฐฉานประเทศเมียนมาร์ (รายงานบางฉบับกล่าวว่าปะหล่องมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในโกสัมพี ซึ่งก็เป็นข้อมูลที่ตรงกัน เพราะคำว่าโกสัมพี เป็นคำเรียกนครรัฐแสนหวี และกินความหมายครอบคลุมรัฐฉานได้ทั้งหมด) จำนวนประชากรปะหล่อง โดยการสำรวจขององค์การพิทักษ์สิทธิมนุษยชนประมาณว่ามี 1 ล้านคน ถิ่นที่อยู่กันหนาแน่น คือ บริเวณเทือกเขาในรัฐฉาน แถบเมืองตองแปง (น้ำซัน) สีป้อเมืองมิต และทางตอนใต้ของรัฐฉาน คือ ที่เมืองเชียงตุง นอกจากนั้นยังพบว่าปะหล่องกระจัดกระจายกันอยู่ทางใต้ของรัฐคะฉิ่น และภาคตะวันตกเฉียงใต้ของยูนนาน ในประเทศจีน อุดร วงศ์ทับทิม กล่าวไว้ใน "ดนตรีพื้นบ้านปะหล่อง" ว่า เมืองเหนือสุดที่ชาวปะหล่องอาศัยอยู่คือ เมืองน้ำคำ ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับเมืองเลียวลีของสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือที่ชาวปะหล่องเรียกว่า เมืองมาว ถัดลงมาคือ เมืองน้ำซัน น้ำตู โมโล เมืองมิต เมืองกอก เมืองโหลง น้ำใส มานาม มานพัต จาวโม ปูโหลง เจียงตองและตากวาง ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทย บริเวณดอยอ่างขาง เขตอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 15 กิโลเมตร

ชนเผ่าลาหู่
ประวัติความเป็นมา
ตามประวัติศาสตร์ของชนชาติ “ลาหู่” มีมานานไม่ต่ำกว่า 4,500 ปี โดยชาวลาหู่มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในธิเบต และอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ต่อมาได้ทยอยอพยพลงมาอยู่ทางตอนใต้ของจีน โดยแบ่งออกเป็นสองสาย คือส่วนหนึ่งอพยพเข้ามาในแคว้นเชียงตุง ประเทศพม่า เมื่อพ.ศ. 2383 และราว พ.ศ. 2423 ได้เข้ามาอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย โดยตั้งรกรากที่อำเภอฝาง จ.เชียงใหม่ เป็นแห่งแรก อีกส่วนหนึ่งได้อพยพเข้าไปในประเทศลาวและเวียดนาม ทั้งนี้ชนเผ่าลาหู่ได้แบ่งเป็นเผ่าย่อยอีกหลายเผ่า อาทิ ลาหู่ดำ ลาหู่แดง ลาหู่เหลือง ลาหู่ขาว ลาหู่ปะกิว ลาหู่ปะแกว ลาหู่เฮ่กะ ลาหู่ลาบา ลาหู่เชแล ลาหู่บาลา เป็นต้น
ปัจจุบันในประเทศไทยมีชนเผ่าลาหู่อาศัยอยู่ราว 1.5 แสนคน โดยกระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ตามแนวชายแดนไทย - พม่ากว่า 800 หมู่บ้าน พื้นที่ที่มีชาวลาหู่อาศัยอยู่มากได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และลำปาง โดยเฉพาะตามพื้นที่ติดชายแดน ส่วนใหญ่แล้วชนเผ่าลาหู่ มักจะอาศัยปะปนกับชนเผ่าอื่น ๆ หรือคนไทย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มหรือเป็นหมู่บ้าน เผ่าลาหู่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ ลาหู่แดง ซึ่งมีการนับถือผี โดยโตโบหรือผู้นำทางศาสนา ส่วนลาหู่ดำหรือลาหู่เหลือง ก็มีการนับถือผีเช่นกัน นอกจากนี้เผ่าลาหู่ก็ยังมีการนับถือศาสนาคริสต์อีกด้วย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น